สรท. ชี้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว-สงครามการค้า-เบร็กซิต-มาตรการกีดกันทางการ กดดันการส่งออกของไทยไม่ได้ตามเป้า คาดทั้งปีได้แค่ 3% จี้ตั้งรัฐบาลใหม่เร็ว วางนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ห่วงปรับค่าแรงซ้ำเติมการส่งออก
สรท.คาดส่งออกปีนี้โตแค่3% – น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกขเดือนก.พ. ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.9% คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 21,553 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 17,519 ล้านดอลลาร์ ลดลง 10.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เกินดุลการค้า 4,034 ล้านดอลลาร์ แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วพบว่า เป็นการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการส่งออกอาวุธที่นำเข้ามาซ้อมรบในประเทศกลับไปยังสหรัฐ เมื่อหักการส่งออกอาวุธออกไป พบว่า การส่งออกของไทยในเดือนก.พ. ขยายตัวติดลบ 4.9% ซึ่งการส่งออกสินค้าเกษตรติดลบ 9% ขณะที่สินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมจะเติบโตได้ดี
อย่างไรก็ตาม การส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ น่าจะขยายตัว 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ สรท. ต้องทบทวนเป้าส่งออกปี 2562 ที่วางไว้ 5% มีโอกาสเป็นไปยาก จึงได้ปรับประมาณการณ์ส่งออกปี 2562 ใหม่เป็น 3%
“ความหวังการส่งออกปีนี้ที่ตั้งไว้ 5% คงหมดหวัง เพราะหากการส่งออกทั้งปี จะขยายตัวได้ 5% การส่งออกที่เหลือ 9 เดือน ต้องส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ 22,800 ล้านดอลลาร์ และหากทั้งปีส่งออก 3% เฉลี่ยส่งออกเดือนที่เหลือต้องเฉลี่ยอยู่ที่ 22,000 ล้านดอลลาร์ แต่ขณะนี้เราส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 21,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสรท. คาดว่า ในเดือนมี.ค. การส่งออกก็น่าจะติดลบ 4-5% ทำให้การส่งออกไตรมาส 1 น่าจะติดลบ 1 หรือ 0%”
ทั้งนี้ เป็นพราะบรรยากาศโลกที่ชะลอตัว สงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อ การเจรจาข้อตกลงที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) ที่ยังไม่มีความชัดเจน ตลาดส่งออกสำคัญของไทยเจอกำแพงภาษีจากสหรัฐ ทำให้ต้องลดการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบในการผลิตลง จึงส่งผลกัดดันให้การส่งออกชะลอตัว รวมถึงตลาดญี่ปุ่นและยุโรปยังคงติดลบ จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว ประกอบกับมาตรการกีดกันทางการค้าจากประเทศต่างๆ อาทิ มาตรการ 232 ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ในการปรับขึ้นภาษี 25% การนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศ และหลายประเทศก็ปิดตัวเองเพื่อรักษาดุลการค้า ทำให้การส่งออกของไทยเริ่มถดถอย ทั้งปีอาจติดลบหรือเป็นบวกแต่คงไม่ถึง 8% ตามเป้าของกระทรวงพาณิชย์ที่ตั้งไว้ และเป้าของสรท. 5% ก็ยังเป็นไปได้ยาก
ส่วนปัจจัยบวกที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกไทยในภาพรวม เช่น การใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ในตลาดที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะ AFTA โตกว่า 13% ตามด้วย จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย
ทั้งนี้ ทางสภาผู้ส่งออกฯ เตรียมที่จะยื่นหนังสือแสดงท่าทีสนับสนุนการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ร่วมกับ European Shippers Council (ESC) ต่อด้วย DG-Trade สหภาพยุโรป สภาพสงครามการค้าเริ่มผ่อนคราวจากช่องว่างการขาดดุลการค้าล่าสุดของสหรัฐ ต่อจีนลดลง 6% และรัฐบาลสหรัฐ พร้อมขยายระยะเวลาการเจรจากับทางการจีนออกไป จนกว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงและจะมีการปรับปรุงนโยบายด้านการปกป้องทรัพยสินทางปัญญา
น.ส.กัณญภัค กล่าวว่า ทางสรท. อยากให้มีการจัดตั้งรัฐบาลให้เสร็จโดยเร็ว และวางนโยบายการกกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อดึงนักลงทุนจากต่างประเทศ การสานต่อนโยบายอีอีซี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ส่งออกไทย
ส่วนนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำที่ 400 บาท มองว่าเป็นการปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดเกินไป ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ และจะส่งผลทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบด้านการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศแน่นอน ซึ่งหากกระทบทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นก็จะมีการปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ปรับขึ้นครั้งเดียวทั้งหมด เพราะจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้ส่งออกได้”น.ส.กัญญภัค กล่าว
นายชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกใน 2 เดือนแรกติดลบ ทำให้คาดว่า เดือนมี.ค. จะติดลบ 4-5% ซึ่งการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่สำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป (ไม่รวมกุ้ง) กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป มีท่าทีว่าจะส่งออกไม่ดีเท่าที่ควร ขณะที่สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบที่คาดว่า ติดลบอยู่ในขณะนี้ มีท่าทีว่าจะส่งออกขยายตัวแบบอ่อนแรง
ส่วนนโยบายการขึ้นค่าแรงของพรรคการเมืองนั้นที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้กระทบกับการส่งออกของ 5 อุตสาหกรรมหลัก อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (อาหารและข้าว) สิ่งทอเครื่องนุ่งห่มและพลาสติก ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ซึ่งจะมีผลต่อการปรับขึ้นราคาสินค้าและค่าบริการ