กสทช. เร่งขับเคลื่อน 5G วางแผนเตรียมประมูลคลื่นภายในปีนี้ เพื่อขับเคลื่อนไทยเป็น 1 ในอาเซียน พร้อมเล็งจัดเก็บค่าใช้โครงข่ายจากผู้ประกอบการต่างประเทศ หวังลดราคาประมูลหลังโอเปอเรเตอร์กังวลคลื่นแพง

กสทช. เร่งขับเคลื่อน 5G – นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยในงานสัมมนา “5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน” ซึ่งจัดโดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี), สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า กสทช. ได้เดินหน้าผลักดันเทคโนโลยี 5G ให้เกิดขึ้นตามกรอบเวลาที่กำหนด และสอดคล้องกับทั่วโลกในปี 2563 โดยได้เตรียมความพร้อมในการเปิดทดลองทดสอบเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยการเปิดศูนย์ปฏิบัติการทดสอบ 5G ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีแผนจะขยายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา

พร้อมกันนี้จะมีการทบทวนและผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยี 5G เพื่อสร้างกลไกที่เป็นแรงจูงใจในการลงทุนของเอกชน รวมถึงการจัดการประมูลคลื่นความถี่ ในย่าน 700 MHz ที่คาดว่าจะเริ่มประมูลได้ในปีนี้, คลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz ที่คาดจะประมูลได้ในปลายปีนี้หรือต้นปี 2563 และคลื่น 3500 MHz ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเรียกคืนคลื่น อีกทั้งการประมูลแบบหลายย่านคลื่นความถี่ (Multiband) อาทิ ย่าน 700 MHz คู่กับย่าน 2600 MHz เป็นต้น

โดยกสทช. เตรียมจะกำหนดการประมูล 3 รูปแบบ 1. แบบใบอนุญาตที่ให้บริการทั่วประเทศ (Nation Wide) 2. แบบมัลติแบรนด์ หรือหลายย่านความถี่พร้อมกัน และ 3. ใบอนุญาตที่ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ที่กำหนดในภาคอุตสาหกรรม (Specific Area) อย่าง ในพื้นที่อีอีซี เป็นต้น ขณะเดียวกันได้เตรียมจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการกสทช. พิจารณาให้มีการเรียกเก็บค่าใช้โครงข่ายจากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเกตเวย์ หรือผู้ให้บริการคอนเทนต์บนอินเตอร์เน็ต (OTT) อย่าง เฟซบุ๊ก กูเกิล และยูทูบ เป็นต้น ที่เข้ามาใช้ทราฟฟิกโครงข่ายที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมในประเทศไทยเป็นผู้ลงทุน โดยจะเสนอคณะกรรมการกสทช. ออกเป็นร่างประกาศกฎเกณฑ์ ให้แล้วเสร็จก่อน 5G จะใช้ในปี 2563 เพื่อจะนำเงินรายได้ในส่วนนี้เป็นรายได้เข้ารัฐ และนำไปดูแลรักษาโครงข่ายพื้นฐานโทรคมนาคม อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ส่วนนี้จะทำให้สามารถลดราคาค่าประมูลคลื่นได้ตามที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมกำลังกังวลกับค่าประมูลคลื่นที่อาจจะสูงเกินไป

“หากไทยต้องล่าช้าในการก้าวสู่ 5G จะทำให้สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะหากไม่มีเทคโนโลยี 5G จะยิ่งทำให้การลงทุนของไทยถดถอยลงไปอีก จากในปี 2561 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการลงทุนที่น้อยลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน และการที่ไทยจะเป็นผู้นำอาเซียนได้ต้องเร่งขับเคลื่อนให้ 5G เกิดขึ้น โดยมีการประเมินว่า ในปี 2578 เทคโนโลยี 5G จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 2.3 ล้านล้านบาท”

ด้านนายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสมีภารกิจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายและให้การสนับสนุนโครงการทดสอบ 5G ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย ภายใต้การสนับสนุนของ กสทช. มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ โดยร่วมสนับสนุนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ทั้งกสทช., กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เดินหน้าศึกษา วิจัย ทดลอง ทดสอบเทคโนโลยี 5G และสร้างสรรค์นวัตกรรม 5G นอกจากนี้ยังเตรียมพัฒนา ซิม AIS 5G บริษัทจะสามารถให้บริการได้อย่างครบวงจร

นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคเสนอ 5G ต้องมีการร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในส่วนการพัฒนาจัดสร้างและใช้งานโครงสร้างพื้นฐาน 5G รวมไปถึงการพัฒนาไปสู่ธุรกิจการบริการในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในระยะยาวและช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจและประเทศไทย

อเล็กซานดรา ไรช์

แต่อุปสรรคที่สำคัญต่อการให้บริการ 5G คือราคาคลื่นความถี่ที่มีราคาสูง แผนการจัดสรรคลื่นความถี่ รวมถึงแผนการปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ ซึ่งทั้งหมดจะต้องมีความชัดเจนว่า แต่ละคลื่นจะสามารถนำมาใช้งานได้เมื่อไหร่ เพราะการเข้าสู่ 5G อุตสาหกรรมต้องใช้คลื่นจำนวนมากทั้งย่านคลื่นความถี่ต่ำ-กลาง-สูง ไม่ใช่แค่ย่านใดย่านหนึ่ง

นอกจากนั้น ความร่วมมือจะเป็นหลักสำคัญในการทำให้เกิด 5G ในประเทศไทย ดีแทคชูความร่วมมือกับทุกภาคส่วนจะเป็นจุดสำคัญในการแจ้งเกิด 5G ในไทย โดยดีแทคได้ร่วมมือทดสอบ 5G ระหว่าง 3 องค์กร คือ ดีแทค ทีโอที และ CAT ในส่วนของ 1. การใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Resource sharing) ทั้งอุปกรณ์โครงข่ายและคลื่นความถี่ต่างๆ 2.การนำความรู้มาร่วมกัน (Knowledge sharing) โดยการนำความรู้ความเชี่ยวชาญโทรคมนาคมของแต่ละฝ่ายมาแบ่งปันและต่อยอดการทดสอบร่วมกัน และ 3. การแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน (Experience sharing) ทำให้แต่ละฝ่ายไม่ต้องเริ่มต้นใหม่แต่สามารถนำประสบการณ์ที่ได้มารวมกันเพื่อพัฒนาไปข้างหน้า รวมถึงศึกษาถึงข้อจำกัดและอุปสรรคทั้งในด้านเทคโนโลยีและระเบียบข้อกฎหมายต่างๆ

ทั้งนี้ ดีแทคยังเดินหน้าสนับสนุนความร่วมมือต่างๆ กับทางสำนักงาน กสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดสนามทดสอบ 5G ทั้งพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและพื้นที่ EEC ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา เพื่อทดสอบการใช้งานจริง (Use case) และต่อยอดสู่การนำมาใช้ให้บริการเชิงพาณิชย์ต่อไป

ด้านนายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทรูตั้งเป้าหมายผลักดันให้ 5G เกิดขึ้นโดยเร็ว และภาครัฐมีส่วนร่วมที่สำคัญในการพัฒนาและสนับสนุน โดยเฉพาะเรื่องภาระและต้นทุน ซึ่งต้องกำหนดราคาค่าคลื่นที่เหมาะสม และยืดหยุ่นในการลงทุน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน