‘อดุลย์ โคลนพันธ์’หัวหอก ปั้น‘เกษตรกร’ขึ้นแท่น‘เถ้าแก่’: รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ – แม้ “อดุลย์ โคลนพันธ์” ประธานกลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่ง ต.โพนเมืองน้อย อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ มีความรู้แค่เพียงม.6 แต่ความรู้ความสามารถในเรื่องเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งการบริหารจัดการธุรกิจ ถือได้ว่าอยู่ในขั้นด็อกเตอร์เลยทีเดียว และตอนนี้เขายังเป็นเจ้าของ บริษัทบ้านต้นข้าวออร์แกนิกส์ ฟาร์ม จำกัด อีกด้วย ซึ่งอยู่ในกลุ่มข้าวสัจธรรมอำนาจเจริญ ถือเป็นกลุ่มปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ที่มีออเดอร์จากร้านอาหารและโรงแรมใหญ่ๆ เดือนละ 50 ตัน

น่าสนใจว่าเขาทำอย่างไร ถึงมายืนอยู่ในจุดนี้ได้ ลองมาฟังดูแล้วจะรู้ว่าหนุ่มใหญ่วัย 40 ปีคนนี้ ไม่ธรรมดาเลย เพราะข้าวอินทรีย์ของกลุ่มได้รับรางวัลมาตรฐานรับรองแหล่งผลิตพืช ประเภทข้าว หรือ มาตรฐาน Q จากกรมวิชาการเกษตร และได้โอท็อป 5 ดาว ปี 2552 ประเภท ข้าวหอมมะลิไร้สารพิษ จากกรมพัฒนาชุมชน และมีออร์เดอร์จากคู่ค้ารายใหญ่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกที่มีเกือบ 100 คนดีขึ้น โดยประสานกับทางสามพรานโมเดล ทำให้กลุ่มได้ลูกค้าพวกร้านอาหารและโรงแรมใหญ่ๆ

อดุลย์ โคลนพันธ์

ทั้งนี้กลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่งมีหลักปฏิบัติร่วมกัน คือ ปลูกข้าวอินทรีย์ 100% และมีสมาชิก 25 คนลดละเลิกอบายมุข ทุกอย่าง 100% จนยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นชาวนาคุณธรรม กลุ่มนี้ปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์รวมเนื้อที่ 14,000 ไร่ อาทิ ข้าวหอมมะลิ หอมมะลิแดง หอมนิล ไรซ์เบอร์รี่ และข้าวพื้นเมืองต่างๆ

นายอดุลย์เล่าที่มาที่ไปของการทำอาชีพเกษตรว่า ช่วยครอบครัวทำนามาตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ และเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เน้นการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ งดใช้สารเคมี พร้อมรวมกลุ่มกันทำเริ่มแรกมี 7 คน ช่วงแรกๆ ยอมรับว่าทำยากแต่ก็ผ่านมาได้ และทำให้คนอื่นๆ เห็นว่าสามารถปลูกข้าวอินทรีย์ได้

ในปี 2560 บริษัทมีกำไรกว่า 1 แสนบาทและที่ผ่านมาได้ทำงานเชื่อมโยงกับกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ โดยซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์อีก 5กลุ่มของจ.อำนาจเจริญ และยโสธร ซึ่งทุกกลุ่มมีใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากหลายแห่ง ทั้งของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติไอฟ่ม “IFOAM” (International Federation of Organic Agriculture Movements) ,มาตรฐานมกท. และมาตรฐาน PGS (Participatory Guarantee Systems) ฯลฯ

นายอดุลย์แจกแจงขั้นตอนการปลูกข้าวอินทรีย์ว่า จริงๆ แล้วทำไม่ยากเลย เริ่มจากเตรียมแปลงก่อน โดยไถกลบฟาง ปลูกถั่วพร้าให้เป็นปุ๋ย ประมาณเดือน เม.ย.- พ.ค. ขนขี้วัว ลงแปลงแล้วใส่น้ำหมักประมาณเดือนกันยายน เพื่อเร่งผลผลิต จากนั้นหว่านกล้า ปักดำ แล้วรอเกี่ยว ถ้านาหว่านจะเตรียมแปลงคล้ายๆกัน ใส่ปุ๋ยชีวภาพ หรือขี้วัว ขี้ไก่ มูลสัตว์ ต่างๆ จะใส่ลงก่อนปักดำก่อนหว่านเมล็ดทั้งหมด ต่างกับการปลูกแบบเคมีปักดำเสร็จแล้วค่อยหว่านปุ๋ย ถ้ามันจืดก็จะหว่านปุ๋ยอีก แต่นาข้าวอินทรีย์เตรียมแปลงก่อนดำเสร็จรอเก็บเกี่ยว

 

ที่ผ่านมาการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่ง ถือว่าประสบความสำเร็จ ทำให้คณะต่างๆ เข้ามาดูงานจำนวนมาก

“เราชี้ประโยชน์ให้เกษตรกรได้รับรู้ว่าปลูกแบบอินทรีย์ดีอย่างไร ขณะเดียวกันกลุ่มรับซื้อแพงกว่าตลาด 2 บาทต่อ ก.ก. ทำให้ความเป็นอยู่ของเกษตรกรก็ดีขึ้น นาก็งามมาก ความต่างคือความเป็นอยู่ดีขึ้น เป็นทั้งเจ้าของนา เจ้าของโรงสี และเป็นผู้ประกอบการด้วย ดีที่สุดตอนนี้คือความปลอดภัยในชีวิตของตัวเอง ซึ่งถ้าเป็นแปลงที่ใช้สารเคมีฉีดพ่น เขาก็ไม่กล้าลงในแปลงตัวเอง แต่ของเราลงในแปลงตลอด มีกบ เขียด ปูปลา หากินได้ในแปลง และปลูกผักกินเอง”

นายอดุลย์บอกว่า ในแต่ละเดือนส่งข้าวขาย ประมาณ 50 ตัน เป็นการทำในสเกลใหญ่เหมือนอุตสาหกรรมทำ มีโรงสีข้าวอยู่ 7 ที่ มีเครื่องปรับปรุงคุณภาพ 2 ที่ ใช้ตราวิสาหกิจร่วมใจรวงท้องทุ่ง แต่กว่าจะผ่านมาถึงวันนี้มันก็ไม่ง่าย มีบางช่วงที่ทำให้ท้อมากคือ ช่วงที่เกษตรผลิตออกมาก แต่ทำตลาดไม่ได้ ไม่มีเงินกลับเข้ากลุ่ม ไม่มีเงินไปจ่ายค่าข้าว จึงต้องกู้เงินธนาคารมาซื้อผลผลิตไว้ แต่ตอนนี้ทำมา 3-4 ปี เกษตรกรเริ่มฝากน้ำหนักข้าวไว้ยังไม่รับเงินไป ต่างจากเมื่อก่อน

สิ่งสำคัญที่ทำให้กลุ่มสามารถส่งข้าวให้ได้ตามที่รับปากกับลูกค้านั้น เขาอธิบายว่า กลุ่มมีทีมส่งเสริมการผลิต จะไม่ให้เกษตรกรผู้เป็นสมาชิกปลูกได้ตามใจ ถ้าจะขายให้กับกลุ่มต้องให้โครงการกำหนด เช่น ปลูกหอมมะลิ ปี 3 ขึ้นไป ลูกค้าจะออร์เดอร์หอมมะลิแดงมาตรฐานอียู จะให้ปลูกตามนั้น ทำให้ไม่ล้นตลาด เหมือนทางกลุ่มมาขายก่อน เช่น ก่อนปักดำจะมาคุยไว้ก่อนใครจะซื้อเท่าไหร่ ประมาณการไว้ก่อน จะมีของไว้ขายเลยเพราะเป็นนาปี ซึ่งการขายตามออร์เดอร์นั้นสิ่งสำคัญคือ 1. มาตรฐานได้ 2.เครื่องจักรได้ 3. ส่งตรงเวลา โดยทางกลุ่มรถขนส่งเอง

ประธานกลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่งให้ข้อมูลอีกว่า ช่วงไม่กี่ปีมานี้ ธุรกิจขายข้าวของกลุ่มเติบโตปีละ 30-40% ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกดีขึ้น แทบทุกบ้านมีรถปิกอัพไว้ใช้ มีเงินใช้หนี้ เกิดความหวงที่นาและใช้ประโยชน์จากที่นาเต็มที่ เพราะหลังจากปลูกข้าวนาปีเสร็จก็ปลูกพืชอื่นๆเป็นรายได้เสริม อย่างพวกถั่ว ข้าวโพด แตงโม ทำให้มีรายได้เพิ่ม พืชบางชนิดขายได้ราคาดีกว่าข้าวเสียด้วยซ้ำ สมาชิกมีความสุขมากขึ้น รักที่นา และตั้งใจทำนา บางคนมีที่นาไม่กี่ไร่ ช่วง 2.3 ปีนี้ก็เก็บเงินไปซื้อที่นาเพิ่มขึ้น

สำหรับแผนธุรกิจในปีนี้ เขาฉายภาพให้ฟังว่า ถ้าสมาชิกเพิ่ม พื้นที่เพิ่ม ข้าวเพิ่ม จะแจ้งไปยังสามพรานโมเดลให้ขยายไปทางโรงแรมอีก เช่น ที่หัวหินกับพัทยา ส่วนต่างประเทศตั้งเป้าจะส่งข้าวให้กับ ผู้ส่งออกปีละ 400 ตัน ให้กับประเทศสิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์

“ปีนี้จะขยายจำนวนสมาชิกเพิ่มอีก 200 รายจากที่มีอยู่เดิม และใช้ทุกมาตรฐาน GMP ออร์แกนิกไทยแลนด์ PGS EU ไอฟ่ม NOP แคนาดา ถ้าโรงแรมเขา อยากได้มาตรฐานไหนเราจะสามารถส่งข้าวให้ได้เลย แต่ราคาจะบวกลบตามค่าใช้จ่ายตามเส้นทาง ในส่วนสมาชิก 200 รายใหม่นี้อยู่ในช่วงระยะสับเปลี่ยนมาเป็นอินทรีย์ โดยมีคนเก่า 250 ราย และรวมกับเครือข่ายที่ส่งให้กับกลุ่ม 750 ราย ประมาณ 14,000 ไร่ ได้มาตรฐานทั้งหมดคืออียูไอฟ่ม”

ประธานกลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่ง ยังบอกอีกว่า ตอนนี้เกษตรกรน่าจะเป็น ผู้ประกอบการได้แล้ว ต้องเปลี่ยนความคิดของกลุ่ม กลุ่มไหนสามารถแปรรูปสีข้าวขายเองได้ ทางกลุ่มก็รับซื้อ โดยจะซื้อทั้งข้าวเปลือกและข้าวสารจากเกษตรกร แต่ต้องเป็นข้าวอินทรีย์เท่านั้น ขณะที่ทางกลุ่มจะดูแลเรื่องระบบรับรองให้ ถ้าเดินตามกลุ่มได้จะไม่มีคำว่าจน มีตลาดรองรับให้ ติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 08-5613-6985

นับเป็นคนหนุ่มอีกรายที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ที่สำคัญเป็นแกนนำเพื่อชักชวนให้เกษตรกรทำเกษตรแบบธุรกิจ และมีเป้าหมายชัดเจน โดยใช้การตลาดนำ ไม่ใช่ทำเกษตรแบบหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินเหมือนสมัยก่อน จนติดกับดักความยากจนแบบถอนตัวไม่ขึ้น

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน