ส่งออกมี.ค.ติดลบ 4.88% พิษเศรษฐกิจโลก-สงครามค้ากดดัน กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการทบทวนตัวเลขเป้าหมายส่งออก

ส่งออกมี.ค.ติดลบ 4.88% – น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนมี.ค. 2562 ติดลบ 4.88% เมื่อเทียบเดือนมี.ค.ปีก่อน และมีมูลค่า 21,440 ล้านเหรียญสหรัฐ หากหักกลุ่มสินค้าน้ำมันและทองคำติดลบ 4.2% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,435 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 7.63% เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ทำให้เดือนมี.ค. ไทยได้ดุลการค้า 2,004 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เมื่อรวมการส่งออก 3 เดือนแรก มีมูลค่า 61,987 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 1.64% การนำเข้ามีมูลค่า 59,981 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 1.20% และได้ดุลการค้า 2,006 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกไทยยังติดลบ คือ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จึงกระทบกำลังซื้อทั่วโลกลดลง รวมถึงการส่งออกด้วย พบว่า การส่งออก 60 ประเทศใน 94 ประเทศทั่วโลกมีตัวเลขการส่งออกที่ติดลบ นอกจากนี้ ไทยยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐกับจีนกระทบต่อกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสัดส่วน 16-17% ติดลบสูง 20-30% ซึ่งยังเป็นประเด็นน่ากังวลในระยะยาว และเงินบาทแข็งค่าและยังผันผวน โดยเดือนมี.ค. การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร บวก 3.2% แต่ไตรมาสแรกลบ 0.2% การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลบ 6% และไตรมาสแรกลบ 1.5% ขณะที่ตลาดส่งออกส่วนใหญ่ติดลบ

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์กำลังอยู่ระหว่างการทบทวนตัวเลขเป้าหมายส่งออก คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ ซึ่งการส่งออกไทยยังมีเรื่องน่าห่วงในปัจจัยเดิมๆ คือผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกชะลอตัว ผลกระทบจากเทรดวอร์ รวมถึงเบร็กซิต และการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (คิวอี) ของยุโรปอาจชะลอตัวลง การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพราะไทยเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การผลิต เรื่องนี้อยากเสนอให้รัฐบาลใหม่ดูแลและออกมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน

“หากไทยยังคงรักษาฐานมูลค่าการส่งออกต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะทำให้ไตรมาส 2 กลับมาเป็นบวก และหากพยุงตัวเลขเฉลี่ยต่อเดือนจากนี้ที่ 21,000-22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะทำให้การส่งออกไทยทั้งปี 2562 ขยายตัวช่วง 3-6% แต่คงไม่ถึง 8% เพราะต้องมีฐานมูลค่าส่งออกต่อเดือน 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนปัจจัยที่จะหนุนส่งออกไทยจากนี้ คือการเจรจาเรื่อสงครามการค้าได้ข้อสรุปเดือนมิ.ย. ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นจะช่วยดึงกลุ่มสินค้าเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น และราคาสินค้าเกษตรยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะหลายประเทศเจอภัยธรรมชาติทำให้ผลผลิตต่ำกว่าความต้องการ ภาคเกษตรปีนี้จะช่วยพยุงส่งออกได้ดีกว่าภาคอุตสาหกรรม”น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน