‘สมคิด’ ตรวจการบ้านก.อุตฯ สั่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ห้ามใส่เกียร์ว่าง หลังยอมรับหลังเลือกตั้งทุกอย่างหยุดนิ่ง แย้มก.คลังจ่อชง ครม.เคาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชงต้นพ.ค.นี้

‘สมคิด’สั่งห้ามเกียร์ว่าง – นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและมอบนโยบายแก่กระทรวงอุตสาหกรรม ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งระหว่างนี้ขอให้ดำเนินนโยบายต่างๆ และสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) และผู้ประกอบการรายใหม่ (สตาร์ตอัพ) อย่างต่อเนื่อง คาดภายใน 3 เดือนการเมืองจะเห็นภาพชัดเจน

“ผมค่อนข้างเป็นห่วงในช่วงที่ยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาล เพราะทุกครั้งเมื่อมีการเลือกตั้งเงินจะสะพัดมาก แต่ครั้งนี้แปลก 2 เดือนมานี้เงินไม่สะพัด เศรษฐกิจนิ่งเพื่อรอดูความชัดเจน เศรษฐกิจจากเดิมที่คาดว่าจะโต 4% เหลือเพียง 3% การจัดตั้งรัฐบาลถ้ายาวถึงครึ่งปีอะไรจะเกิดขึ้น เวียดนามก็วิ่งเอาวิ่งเอาทุกวัน ราชการกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ใช่ว่าไม่รู้ว่า สมคิด จะกลับมาไหม แล้วอยู่นิ่งๆ อันนี้ผมขอว่าอย่าหยุดนะ งานทุกอย่างต้องเร่งเดินหน้าไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจลำบาก ทางกระทรวงการคลังก็อยู่ระหว่างจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาช่วงต้นเดือนพ.ค.นี้ เพื่อประคับประคองภาวะเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตได้ต่อเนื่องในช่วงระหว่างที่ยังไม่ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่”นายสมคิดกล่าว

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) จัดทำมาตรการอัดฉีดเงินให้กับเอสเอ็มอีภายใน 3 เดือน เพื่อรักษาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงนี้ไม่ให้ทรุด พร้อมเน้นย้ำให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งดำเนินการจัดทำแผนการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมต่อเนื่องให้เป็นรูปธรรมโดยเฉพาะการพัฒนาตลาดผักผลไม้ที่ต้องสร้างระบบห้องเย็นและระบบโลจิสติกส์รองรับเน้นนำร่องในพื้นที่ภาคตะวันออก กับ อ.หลังสวน จ.ชุมพร และขยายไปยังเกษตรชนิดอื่นต่อไป

ขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรมต้องจัดทำมาตรการจูงใจหรือบังคับให้เอกชนปรับเปลี่ยนการนำระบบเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้กับภาคการผลิตเพื่อเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรมไปสู่ 4.0 โดยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมต้องไประดมสมองกับเอกชน หากรัฐบาลจะต้องสนับสนุนด้านใดเพิ่มเติมในแนวทางใดก็ให้ระบุมาและประกาศเป็นมาตรการที่ชัดเจน รวมทั้งให้เร่งจัดหาที่ตั้งบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ทำหน้าที่พัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและธุรกิจสตาร์ตอัพ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้มีข้อสรุปโดยเร็วพร้อมมีคณะผู้บริหารภายในเดือนพ.ค.นี้ เพื่อพร้อมขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2563 ต่อไป

ในส่วนของบการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ต้องเตรียมพร้อมรองรับการเข้ามาลงทุนของทุกภาคอุตสาหกรรมที่ต้องทันกับยุค 4.0 และทันกับนิคมฯ ของเอกชนที่ก้าวหน้าไปมาก รวมถึงเร่งพิจารณาการเจรจากับกลุ่มผู้ประมูลท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ให้จบโดยเร็วเป็นโครงการแรกๆ และโครงการที่เหลือ เช่น รถไฟความเร็วสูง และแหลมฉบังเฟส 3 เองก็ควรจะแล้วเสร็จภายในเดือนพ.ค.นี้ด้วย

ด้านนายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯ จะเร่งช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้ลงไปสู่รายเล็กมากขึ้นโดยโยกเงินจากกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ที่แยกมา 8,000 ล้านบาท ในการช่วยเหลือไมโครเอสเอ็มอีล่าสุดใช้หมดแล้ว จึงจะโยกส่วนที่เหลือ 1.2 หมื่นล้านบาท ที่มีวงเงินเหลือประมาณ 2,000 ล้านบาท มาให้ไมโครเอสเอ็มอี ขณะเดียวกันวงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท ที่ปล่อยไปมีการทยอยมาคืนเงินกู้แล้ว 970 ล้านบาท จึงเตรียมเสนอครม. เพื่อขอนำวงเงินดังกล่าวมาสนับสนุนไมโครเอสเอ็มอีต่อไปได้อีกทางหนึ่ง

“ท่านสมคิด ยังมอบหมายให้เราดูเรื่องเกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรในภาพใหญ่ เน้นเกษตรแปรรูปเมืองที่ภาคตะวันออก คือ จ.ระยองซึ่งเป็นโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก หรืออีเอฟซี (EFC) และจากนั้นจะขยายไปยังพื้นที่อื่น”นายสมชายกล่าว

นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า เร็วๆ นี้ จะนำเสนอมาตรการทางกฎหมายลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ให้ครม. พิจารณาเห็นชอบ โดยจะมีการออกระเบียบให้โรงงานรับอ้อยไฟไหม้ปี 2562/63 เข้าหีบไม่เกิน 30% ต่อวัน ปี 2563/64 ไม่เกิน 20% ต่อวัน และปี 2564/65 จะต้องไม่มีอ้อยไฟไหม้ พร้อมมีมาตรการสนับสนุนการจัดหารถตัดอ้อยเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4,000 คันในปี 2565 จากปัจจุบันมีรถตัดอ้อย 1,802 คัน แบ่งเป็นมาตรการส่งเสริมสินเชื่อให้เกษตรกรปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี ดอกเบี้ย 1% ต่อปี ที่เหลือประมาณ 3-4% รัฐจะชดเชยดอกเบี้ยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ควบคู่กับการส่งเสริมให้เกิดการผลิตรถตัดอ้อยในไทยด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน