จับตาราคาหมูพุ่ง ผลกระทบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา หวั่นลามเข้าไทย กรมการค้าภายในเบรกขึ้นราคาหน้าฟาร์ม ห้ามเกิน 75 บาทต่อก.ก.

พาณิชย์จับตาราคาหมูพุ่ง – นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ประสบปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา ทำให้สุกรตายไปจำนวนมาก ส่งผลให้ปริมาณสุกรในประเทศนั้นๆ ลดลง และมีแนวโน้มว่าจะมีความต้องการสุกรจากต่างประเทศมากขึ้น เพื่อทดแทนปริมาณสุกรที่หายไป ประกอบกับอากาศที่ร้อนขึ้นทำให้มีแนวโน้มว่าสุกรจะโตช้า ไม่ทันกับความต้องการบริโภคในประเทศ ทำให้ราคาสุกรหน้าฟาร์มในประเทศสูงขึ้น ไปอยู่ที่ 75 บาท/ก.ก. จากเดิม 73-74 บาท/ก.ก.

ดังนั้น กรมเตรียมออกมาตรการในการควบคุมไม่ให้ราคาสุกรหน้าฟาร์มเกิน 75 บาทต่อก.ก. หรือราคาเนื้อสุกรชำแหละ 150 บาทต่อก.ก. โดยเน้นการกำหนดเพดานสูงสุด และควบคุมปริมาณการส่งออก เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“ผมได้หารือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และตกลงกันว่าหากราคาสุกรหน้าฟาร์มเฉลี่ยเกิน 75 บาทต่อก.ก. ก็ต้องมีการหามาตรการคุมราคาไม่ให้ปรับเพิ่มกว่านี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้บริโภค แต่หากไม่เกิน 75 บาทต่อก.ก. ทางกรมฯ จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งสมาคมก็เห็นด้วย โดยต้นทุนของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจะอยู่ที่ 60 บาทต่อก.ก. ซึ่งปัจจุบันก็จะได้กำไรตัวละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคาหมูตกต่ำมากจนทำให้หลายๆรายประสบปัญหาขาดทุน”นายวิชัย กล่าว

ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องควบคุมราคาหน้าฟาร์มไม่ให้เกิน 75 บาทต่อก.ก. เพราะไม่ต้องการให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าอาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว และอาหารอื่นๆ ที่มีส่วนประกอบเนื้อหมูปรับขึ้นราคา จนสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้บริโภค เพราะหากอาหารดังกล่าวปรับราคาแล้วส่วนใหญ่ก็จะไม่ปรับราคาลดเหมือนกับราคาน้ำมัน ราคาเนื้อสุกร และอื่นๆ ที่สามารถปรับขึ้นและลงตามความต้องการของตลาด

นายวิชัย กล่าวว่า สำหรับปริมาณประเทศไทยมีปริมาณสุกร 19-20 ล้านตัว หรือปริมาณเนื้อ 1.45-1.49 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นการบริโภคในประเทศ 14-15 ล้านตัว ที่เหลือเป็นการส่งออกในรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือว่าโชคดีที่ภาครัฐและภาคเอกชนมีระบบป้องกันการระบาดของโรคอหิวาต์ได้เป็นอย่างดี และต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มมาตรการไม่ให้โรคดังกล่าวเข้ามาระบาดในไทยไม่เช่นนั้นจะทำให้เกษตรกรเดือดร้อนหนัก โดยเฉพาะสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มันสำประหลังและปลายข้าว ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการประกอบอาหารสุกร

“หากโรคระบาดเข้าในไทยได้ก็จะทำให้เกิดความเสียหายต่อสุกร หรือต้องทำลายสุกรทิ้งเหมือนกับในหลายๆ ประเทศ สิ่งที่ตามมาคือ สินค้าเกษตรที่นำมาทำเป็นอาหารสุกรก็ต้องมีราคาที่ถูกลงด้วย เพราะความต้องการสินค้าด้วยและการแก้ปัญหาโรคดังกล่าวต้องให้เวลาหลายปี ดังนั้นคงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมและป้องกันอย่างเข้มงวดไม่ให้เกิดปัญหาการระบาดในไทย”

นายวิชัย กล่าวถึงสถานการณ์ค่าครองชีพ ว่า ขณะนี้ค่าเฉลี่ยค่าครองชีพของไทยอยู่ในอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียน เห็นได้จากอัตราเงินในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ไม่ถึง 1% เนื่องจากราคาสินค้าส่วนใหญ่อยู่ในระดับทรงต่ำ เพราะผู้ประกอบการจำนวนมากไม่กล้าปรับขึ้นราคาสินค้าในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ยกเว้นราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับฤดูกาล เช่น มะนาว ผักคะน้า ต้นหอม ขึ้นฉ่าย เป็นต้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบเรื่องของอากาศร้อน หรือผลผลิตลดลง เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปี 2561 ไทยมีปริมาณการผลิตสุกรขุน จำนวน 22.90 ล้านตัว มีต้นทุนการผลิตสุกรกรณีซื้อลูกสุกรมาเลี้ยง เฉลี่ยก.ก.ละ 63 บาท ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ 65 บาทต่อก.ก. ราคาขายปลีกเนื้อสุกรชำแหละ 134 บาทต่อก.ก. สามารถส่งออกสุกรมีชีวิต 885,372 ตัว เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 127%

ส่วนปี 2562 คาดว่าจะมีสุกรขุน 20 ล้านตัว คาดว่าจะมีปริมาณส่งออกสุกรมีชีวิต 1 ล้านตัว เพิ่ม 10% มีการนำเข้าเนื้อสุกร 112 ตัน เพิ่ม 5% และส่งออกเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ 20,906 ตัน เพิ่ม 4% อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีปริมาณเนื้อสุกรเหลือบริโภคภายในประเทศ 1.45 ล้านตัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน