ไทยครองแชมป์ส่งออกข้าวโพดหวานโลก มาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชี้มีสายพันธุ์ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น พันธุ์ทับทิมสยาม

ไทยแชมป์ส่งออกข้าวโพดหวาน– นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตข้าวโพดหวานของประเทศในปี 2562 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ มี.ค. 2562) คาดว่า มีเนื้อที่เพาะปลูกรวมทั้งประเทศ 237,700 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วซึ่งมีจำนวน 245,629 ไร่ ลดลง 7,929 ไร่ หรือ 3.23% เนื้อที่เก็บเกี่ยว 232,526 ไร่ จากปีที่แล้วซึ่งมีจำนวน 242,729 ไร่ ลดลง 10,203 ไร่ หรือ 4.2% ผลผลิตรวม 520,603 ตัน จากปีที่แล้วซึ่งมีจำนวน 535,365 ตัน ลดลง 14,762 ไร่ หรือ 2.76% ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 2,239 ก.ก./ไร่ จากปีที่แล้วที่จำนวน 2,206 ก.ก./ไร่ เพิ่มขึ้น 33 ก.ก./ไร่ หรือ 1.5%

ซึ่งภาพรวมผลผลิตลดลงตามการลดลงของเนื้อที่เพาะปลูก โดยเนื้อที่เก็บเกี่ยวลดลง เนื่องจากปริมาณในแหล่งน้ำธรรมชาติในช่วงฤดูแล้งมีน้อยกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก เกษตรกรจึงปล่อยเนื้อที่ให้ว่าง ด้านผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากในแหล่งผลิตที่ทำการเพาะปลูกได้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโต ทั้งนี้ ข้าวโพดหวานในประเทศนิยมปลูกในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง นครสวรรค์ กาญจนบุรี เป็นส่วนใหญ่ และผลผลิตจะออกมาในช่วงเดือนมิ.ย.-ส.ค. โดยจะออกมากในเดือนก.ค. 17.45% ของผลผลิตทั้งประเทศ

หากมองถึงการบริโภคข้าวโพดหวานในประเทศ พบว่า ปัจจุบันการบริโภคข้าวโพดหวานพันธุ์ลูกผสมมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากมีการพัฒนาข้าวโพดหวานสายพันธุ์ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น พันธุ์ทับทิมสยาม ที่สามารถบริโภคสดได้โดยไม่ต้องทําให้สุกก่อน ในขณะที่ข้าวโพดหวานพันธุ์พื้นเมือง เช่น พันธุ์ข้าวเหนียว ข้าวโพดเทียน ยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่องจากผู้บริโภค

ทั้งนี้ ไทยนับว่าเป็นประเทศส่งออกข้าวโพดหวานอันดับ 1 ของโลกมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และจากการที่แหล่งผลิตข้าวโพดหวานในสหภาพยุโรป (อียู) และทวีปอื่นๆ ซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งที่สําคัญของไทยประสบความเสียหายจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (เอลนีโญ-ลานีญา) จึงส่งผลให้ข้าวโพดหวานของไทย ในปี 2561 สามารถส่งออกได้มากถึง 532,370 ตัน คิดเป็นมูลค่า 7,956 พันล้านบาท โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ซึ่งส่งออกได้ 489,992 ตัน เพิ่มขึ้น 8.65% คิดเป็นมูลค่า 7,662 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.84%

และคาดว่าปี 2562 การส่งออกจะเติบโตไปในทิศทางบวกเช่นเดียวกัน เนื่องจากข้าวโพดหวานพันธุ์ลูกผสมเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตและมีความต้องการข้าวโพดหวานปรุงแต่งเพื่อส่งออก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ซาอุดิอาระเบีย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการผลิตในประเทศ เกษตรกรควรดูแลคุณภาพผลผลิต และเฝ้าระวังโรคและแมลงที่ระบาดอยู่ใน บางพื้นที่ เช่น หนอนกระทู้ โรคใบลาย โรคใบไหม้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณและผลผลิตได้คุณภาพตามต้องการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน