กฟผ. เดินหน้าลงทุน 5 หมื่นล้านประคองเศรษฐกิจ เน้นพัฒนานวัตกรรม ยืนยันไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชน

กฟผ. เดินหน้าลงทุน 5 หมื่นล. – นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระชัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดงานวันคล้ายวันสถาปนา กฟผ. ครบรอบ 50 ปี ว่า ปีนี้ กฟผ. มีแผนลงทุน 50,000 ล้านบาท โดยมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับการลงทุนจริงให้มากที่สุด อาทิ การปรับปรุงโรงไฟฟ้าบางปะกง/โรงไฟฟ้าพระนครใต้ งบรายจ่ายประจำปี และคาดว่าจะมีการใช้เงินลงทุนเพิ่มเติมในโรงไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น และการสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะเพิ่มเติมหน่วยที่ 4-7 คาดจะช่วยประคองเศรษฐกิจในประเทศได้ตามนโยบายเร่งรัดการลงทุนของรัฐบาล ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งประเทศ 54,816 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าของกฟผ. 14,566 เมกะวัตต์ คิดเป็น 27% ของกำลังการผลิตรวมทั้งประเทศ

โดยกฟผ. ยังคงพัฒนานวัตกรรมพลังงานพลังงานไฟฟ้าสู่รูปแบบใหม่ไฮบริด เช่นระบบวิน ไฮโดรเจน ไฮบริด มาใช้ในโครงการกังหันลงผลิตไฟฟ้าลำตะคอง ระยะที่ 2 บริเวณอ่างพักน้ำตอนบนโรงไฟฟ้าลำะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา โครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อน นำร่องติดตั้งที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ เป็นโครงการไฮบริดแห่งแรกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยยืนยันไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชน

“ขณะนี้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (พีก) อยู่ที่ 30,120 เมกะวัตต์ วันที่ 24 เม.ย. 2562 เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนอย่างมาก แต่คาดว่าช่วงเวลาที่เหลือจากนี้พีกจะเพิ่มอีกไม่เกิน 500 เมกะวัตต์ หรือปริมาณพีกไม่เกิน 30,500 เมกะวัตต์ ตามที่กฟผ. คาดการณ์ เนื่องจากหลังจากนี้คาดว่าอุณหภูมิจะเริ่มลดลง พีกของประเทศจึงไม่น่ากังวล”นายวิบูลย์กล่าว

นอกจากนี้ ยังพัฒนาระบบรองรับพลังงานหมุนเวียนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เพื่อให้สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักได้ทันถ่วงทีเมื่อพลังงานหมุนเวียนหายไป มีระบบกักเก็บพลังงานทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน นำร่อง 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี ซึ่งมีระบบการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า ระบบพยากรณ์และควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

ในส่วนด้านระบบส่งไฟฟ้า กฟผ. ได้พัฒนาระบบส่งเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประเทศในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงรองรับการพัฒนาพลังงานทดแทน ปัจจุบันสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ. มีความยาวทั้งสิ้น 35,088.156 วงจร-กิโลเมตร สถานีไฟฟ้าแรงสูงรวม 228 สถานี ขยายขอบเขตการแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานในระดับภูมิภาค สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Power Grid)

โดยระยะแรกมีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศแบบพหุภาคีและมัลติ เช่น ลาว ไทย มาเลเซีย ซึ่งจะเพิ่มปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าระหว่างกันอีก 300 เมกะวัตต์ จาก 100 เมกะวัตต์ และขยายผลไปยัง 4 ประเทศในอนาคต ได้แก่ ลาว ไทย มาเลเซียและสิงคโปร์ พร้อมพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก-ตะวันตกเชื่อมสายส่งระหว่างลาว ไทย เมียนมา เป็นต้น

นายวิบูลย์ กล่าวถึงมติคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กปน.) ที่กำหนดให้กฟผ. ดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) เพิ่มอีก 100,000 ตัน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ว่า ที่ผ่านมาดูดซับแล้ว 160,000 ตัน หลังจากนี้ต้องรอจัดทำในรายละเอียดเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ คาดว่าจะเสนอได้ภายใน 1-2 เดือนจากนี้หรือภายในรัฐบาลชุดนี้ เพื่อให้เกิดการดูดซับอย่างรวดเร็ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน