ย้อนรอยแผนพยุงเศรษฐกิจกลางปี’62 ‘ซานต้าตู่’สั่งทุ่ม2หมื่นล้าน-ทิ้งทวน : รายงานพิเศษ

ในช่วงการเมือง ‘สุญญากาศ’ ระหว่างที่รัฐบาลปัจจุบันรอส่งไม้ต่อให้กับ ‘รัฐบาลชุดใหม่’ กับทิศทางหลังเลือกตั้ง ที่สุดคาดเดาว่าจะออกมาหน้าไหน และจะมีเสถียรภาพเพียงพอหรือไม่

รวมกับภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกเริ่มหัวทิ่มหัวตำ ภาคการส่งออกที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ก็เริ่มอุดตัน

รัฐบาลปัจจุบันต้องเติมกระสุนอีกรอบ จึงเป็นที่มาของ ‘มาตรการพยุงเศรษฐกิจกลางปี 2562’ ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา

แบ่งเป็น 4 มาตรการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน และ 6 มาตรการภาษี ภายใต้งบประมาณที่รัฐต้องถมใส่และเฉือนเนื้อไปกว่า 2 หมื่นล้านบาท

ก่อนที่จะไปถึง 10 มาตรการที่ผ่านความเห็นจาก ครม. ต้นสายปลายเหตุมาจากที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมใหญ่กับผู้บริหารกระทรวงการคลัง เมื่อช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาเนื่องจากเห็นว่า ภาวะการเมืองที่ไม่แน่นอน เริ่มพ่นพิษใส่เศรษฐกิจไทยเห็นเค้าลาง ที่ไม่ดีชัดเจนมากขึ้น

โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.2562 ที่เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว จากเดือน ม.ค.-ก.พ. ที่ขยายตัวได้ดี การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรเกินเป้าหมาย ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2562 มีสัญญาณอ่อนตัวลงกระทบเศรษฐกิจครึ่งปีแรกขยายตัวได้ 3%

สอดคล้องกับตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับทิศทางขยายตัวเศรษฐกิจในช่วงเดือน มี.ค. ที่ส่งออก -4.2% รวมไตรมาส 1/2562 ส่งออก -3.6% ขณะที่ในเดือนมี.ค. ตัวเลขของภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนเอกชน และการนำเข้า เรียงกระดาน ‘หดตัว’ ทั้งหมด

รองนายกฯ จึง ‘ทุบโต๊ะ’ สั่งให้กระทรวงการคลัง ทำคลอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในเวลาสั้นที่สุด

งานหนักจึงตกอยู่ที่กระทรวงการคลัง ทำนโยบายแบบ ‘ปูพรม’ ในสูตรประชารัฐนิยม ใช้งบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ช่วยเหลือค่าใช้จ่าย และกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง

เมื่อนับนิ้วบวกลบ จึงเกิดเป็นมาตรการที่ฮือฮาในเชิง ‘โยนหินถามทาง’ อย่างมาตรการแจกเงิน 1,500 บาท ให้ 10 ล้านคน เพื่อใช้ไปเที่ยวเมืองรอง หวังจ่ายตรง เกิดการใช้เงินหมุนเวียน ได้ผลเร็วในระบบเศรษฐกิจทันที

แต่ด้วยเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างถึงความ ‘ไม่เหมาะสม’ ในการใช้เงินงบประมาณจากทางภาครัฐ ทำให้กระทรวงการคลังต้องใส่เกียร์ถอย

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ที่ออกมาบอกว่าจะไม่เสนอ เรื่องนี้เข้า ครม. อีกแล้ว และนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ระบุว่ามาตรการนี้จัดอยู่ในหมวดยาแรงที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้ในตอนนี้

เมื่อถูกเบรกจากแจกเงิน 1,500 บาท กระทรวงการคลัง จึง ‘ทบทวน’ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศขึ้นมาใหม่ ให้เหมาะสม จนเป็นที่มาของ 4 มาตรการผ่านบัตรคนจน และ 6 มาตรการภาษี

ซึ่งหากดูเนื้อในแล้วแทบไม่ต่างจาก ‘เหล้าเก่าในขวดใหม่’ เพราะเคยใช้มาแล้วก่อนหน้านี้

มาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้เงินงบประมาณ 1.32 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย

1.เพิ่มเบี้ยคนพิการ ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นจำนวนเงิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน รวมเวลา 5 เดือน ตั้งแต่ พ.ค.-ก.ย.2562 ได้ประโยชน์ 1.16 ล้านคน

2.บรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่เกษตรกร ช่วยค่าใช้จ่าย ในการซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และปัจจัยการผลิตอื่นๆ เป็นจำนวนเงิน 1,000 บาทต่อคน (ได้รับครั้งเดียว) ได้ประโยชน์ 4.1 ล้านคน

3.บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ช่วงเปิดปีการศึกษา เพื่อช่วยเหลือค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การศึกษาช่วงเปิดปีการศึกษา ช่วยค่าใช้จ่ายจำนวน 500 บาทต่อบุตร 1 คน (ได้รับครั้งเดียว) ได้ประโยชน์ 2.7 ล้านคน

และ 4.พยุงการบริโภคของผู้มีรายได้น้อย เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้ เพิ่มวงเงินซื้อสินค้าในร้านธงฟ้าประชารัฐเป็น 500 บาท ต่อคนต่อเดือนเท่ากันทุกคน เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค.-มิ.ย. 2562 ได้ประโยชน์ 14.6 ล้านคน

ส่วนมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศ คาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ประมาณ 7 พันล้านบาท ปะกอบด้วย

1.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย ให้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ค่าที่พัก โรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในเมืองหลัก ไม่เกิน 15,000 บาท และสำหรับการเดินทาง ท่องเที่ยวในเมืองรอง ไม่เกิน 20,000 บาท ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2562

2.มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าเกี่ยวกับการศึกษาและกีฬา ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬาไม่ เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-30 มิ.ย.2562

3.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่น ไทย (โอท็อป) ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ไม่เกิน 15,000 บาท ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2562

4.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการอ่าน ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซื้อหนังสือและค่าบริการหนังสือที่ อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (e-Book) ไม่เกิน 15,000 บาท ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2562

5.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่ เกิน 5 ล้านบาท โดยหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 200,000 บาท ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2562

และ 6.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายเป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายลงทุนเพื่อรองรับระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ที่จ่ายถึงวันที่ 31 ธ.ค.2562

นายลวรณยืนยันว่ามาตรการพยุงเศรษฐกิจครั้งนี้ จะช่วยให้เศรษฐกิจปี 2562 ขยายตัวเพิ่มได้ 0.1% จากคาดการณ์ 3.8% แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย หรือไม่มีมาตรการอะไรออกมาเลย จะมีความเสี่ยงกับการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

การจัดยาประคองไข้โดยหวังผลกระตุ้นให้เศรษฐกิจไม่ทรุดและขยายตัวเพิ่มในระดับ 0.1% ตามที่กระทรวงการคลังมุ่งหวังไว้ ถือเป็นมาตรการส่งท้ายรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ส่วนจะได้ผลแค่ไหนต้องจับตากันต่อไป

รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ที่เชื่อว่าต้องมีออกมาแน่นอนหากภาพรวมเศรษฐกิจไทย และโลกยัง ‘ลูกผีลูกคน’ เช่นนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน