กรมสรรพากรลงนามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ และผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามรวมกันไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อปี ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ 15%

คลังเริ่มแล้วรีดภาษีเงินฝาก – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2562 นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ได้ลงนามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ และผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามรวมกันไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อปีไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ 15%

ทั้งนี้ ดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้ 1. ดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากทุกบัญชีรวมกัน มีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 2 หมื่นบาทตลอดปีภาษีนั้น 2. ชื่อบัญชีเงินฝากและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่ใช้ในการเปิดบัญชีเงินฝากจะต้องเป็นของผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนเงินฝากนั้น 3. ผู้มีเงินได้จะต้องไม่ได้แจ้งธนาคารซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากไม่ให้นำส่งข้อมูลดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากให้กับกรมสรรพากร และ 4. เป็นดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝาก ที่กรสรรพากรได้รับข้อมูลเกี่ยวกับดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝาก นั้น จากธนาคารซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝาก

สำหรับกรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่ประสงค์จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ให้แจ้งธนาคารซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากเพื่อไม่ให้นำส่งข้อมูลเกี่ยวกับดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝาก ให้กับกรมสรรพากร ธนาคารซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝาก

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์จะต้องนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากทุกบัญชีต่อกองเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสรรพากร โดยจัดทำขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามรูปแบบและนำส่งตามวิธีการที่กำหนดบนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร โดยให้นำส่งภายในกำหนดเวลา ดังนี้ 1. สำหรับข้อมูลที่เกี่ยวกับการคำนวณเพื่อจ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากในครึ่งปีแรก โดยคำนวณถึงวันที่ 15 พ.ค. ให้นำส่งภายในวันที่ 20 พ.ค.ของปีนั้น 2. สำหรับข้อมูลที่เกี่ยวกับการคำนวณเพื่อจ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากทั้งปี โดยคำนวณถึงวันที่ 15 พ.ย. ให้นำส่งภายในวันที่ 20 พ.ย.ของปีนั้น

ก่อนหน้านี้ นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า ในวันที่ 7-14 พ.ค. นี้ ธนาคารทุกแห่งจะเปิดให้ลูกค้าที่ไม่ต้องการให้ส่งข้อมูลดอกเบี้ยออมทรัพย์ให้กับกรมสรรพากร มาลงทะเบียนกรอกแบบฟอร์ม ซึ่งเป็นแบบเหมือนกันทุกธนาคาร และต้องลงทะเบียน 1 บัญชี ต่อ 1 แบบฟอร์ม ซึ่งคาดว่าจะไม่มีคนมาลงทะเบียนเลย

ขณะที่นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรระบุว่า ข้อมูลที่ธนาคารจะนำส่งให้กรมสรรพากรจะเป็นเฉพาะรายละเอียดการจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากให้ผู้ฝากเท่านั้น ไม่ได้ส่งข้อมูลอื่น เช่น รายได้ และเงินฝากต่างๆ จึงไม่ต้องกังวลว่า กรมจะนำข้อมูลไปใช้เข้มงวดในการเรียกเก็บภาษี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน