อีอีซีฉลุยรับทราบรายงานเจรจากลุ่มซีพีเดินหน้าลงทุนไฮสปีดเทรนกว่า 1.8 แสนล้านบาทต่อ เตรียมชงครม. เคาะร่วมลงทุนรฟท. วันที่ 28 พ.ค.นี้

อีอีซีรับทราบลงทุนไฮสปีดเทรน – นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน มูลค่าลงทุนประมาณ 1.82 แสนล้านบาท ว่า บอร์ดอีอีซีได้รับทราบผลการคัดเลือก การเจรจา และร่างสัญญาร่วมทุนที่ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดตามผลการเจรจากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ได้เจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เข้าร่วมลงทุนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเห็นชอบให้นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบให้รฟท. ร่วมลงทุนรูปแบบการร่วมทุนกับเอกชน (พีพีพี) วันที่ 28 พ.ค.นี้ ก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาในกลางเดือนมิ.ย. ต่อไป

“แม้ครม. จะมีรัฐมนตรีหลายท่านลาออกก็ยังสามารถประชุมได้อยู่ ส่วนการลงนามในสัญญาวันที่ 15 มิ.ย.นี้ ตามกำหนดเดิมที่วางไว้คงต้องรอผลการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการส่งมอบพื้นที่ด้วย”นายคณิศกล่าว

ส่วนความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกที่กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด (เครือ ซี.พี.) ฯลฯ ได้ใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับกรณียื่นเอกสารล่าช้าซึ่งกระทบต่อการตรวจสอบคุณสมบัติโดยคณะกรรมการคัดเลือกโครงการจะเข้าชี้แจงต่อศาลปกครองฯ ในรายละเอียดวันที่ 16 พ.ค.นี้ จากนั้นต้องรอกระบวนการตัดสินใจของคำสั่งศาลเป็นสำคัญ ดังนั้นเบื้องต้นการลงนามร่วมลงทุนภายใต้กรอบเดิมที่คาดไว้ไม่เกินเดือนพ.ค.นี้ คงจะเลื่อนไปเป็นปลายเดือนมิ.ย. เช่นเดียวกับท่าเรือแหลมฉบังที่กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี (NCP) ใช้สิทธิ์ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้ระงับคัดเลือกโครงการจึงต้องรอคำสั่งศาลเช่นกัน ทำให้ต้องเลื่อนจากกรอบเดิมไปเป็นเดือนมิ.ย.นี้

สำหรับโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ระยะที่ 1 ที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) อยู่ระหว่างเจรจาร่วมกับกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีที แทงค์ (บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์-บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินอล) ผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว การประชุมครม. ไม่เกินสัปดาห์หน้าหรือวันที่ 21 พ.ค. จะเสนอปรับปรุงเงื่อนไขกรณีที่เอกชนต้องลงทุนถมทะเล 10,000 ล้านบาท การนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ทยอยจ่ายคืนปีละ 600 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 2.5% ตลอดสัญญา 30 ปี โดยจะปรับเป็นทยอยจ่ายเงินคืน 720 ล้านบาท ดอกเบี้ย 4.8% ขณะที่โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) วันที่ 15 พ.ค.นี้ จะมีการประชุมกับการบินไทยก็น่าจะไม่เกินมิ.ย.นี้ เช่นกัน

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า ในวันที่ 15 มิ.ย. รฟท. จะลงนามร่วมกับซีพีตามกรอบเวลาหรือไม่นั้น ต้องพิจารณา 2 ปัจจัย คือ การอนุมัติศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมต้องได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก่อน รวมทั้งการเจรจารายละเอียดการลงนามระหว่าง รฟท. กับซีพี ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมก็สามารถลงนามตามกรอบเวลา

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า บอร์ดอีอีซีได้เห็นชอบการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมและส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีต่อเนื่องจากการประชุมครั้งก่อนที่รับทราบความต้องการในอุตสาหกรรมดิจิทัลกว่า 100,000 คน โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้สานต่อโครงการพร้อมจัดทำการพัฒนาและผลิตกำลังคนดิจิทัล สำหรับพื้นที่อีอีซี คาดภายในปี 2566 บุคลากรที่ได้รับการพัฒนากว่า 180,000 คน ประกอบด้วย นักศึกษาจบใหม่ด้านดิจิทัลที่เข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 60,000 คน นักศึกษาสาขาอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนหรือเรียนเพิ่มเติม ในสาขาวิชาด้านดิจิทัล จำนวน 120,000 คน

นายสุเทพ เพชรมาก ท่านผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า บอร์ดยังได้เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมกันพัฒนาโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ในอีอีซีจะเป็นการลงทุนเพื่อสร้างความรู้ทางการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomic Medicine) ที่จำเป็นให้ประเทศที่มีความต้องการบริการการแพทย์แบบแม่นยำ (Precision Medicine) ให้สามารถนำไปสู่การรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ในอนาคตอันใกล้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลดังกล่าวได้อย่างทั่วถึงในระบบประกันสุขภาพ และให้สำนักงาน กพอ. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน