แบงก์ชาติหวั่นสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ทำระบายสินค้าป่วน-การค้าโลกกระทบหนัก นายกฯ สั่งจับตาสงครามการค้าจีน-มะกันหวั่นกระทบไทย

แบงก์ชาติหวั่นสงครามการค้า – นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การค้าระหว่างสหรัฐกับจีนโดยรวมเป็นผลเสียมากกว่าผลดีต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก เนื่องจากจะกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจใน 3 ด้าน ได้แก่ 1. การชะลอตัวของการค้าโลก จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงกับต่างประเทศสูงรวมทั้งไทย ทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว

2. ด้านการค้า (Trade Diversion) ผลกระทบจะมีทั้งด้านบวกและด้านลบในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น สินค้าไทยที่ส่งไปประกอบในจีน และเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตที่ส่งต่อไปยังตลาดสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบ แต่ขณะเดียวกันสินค้าที่ได้รับประโยชน์จะเป็นกลุ่มที่สามารถส่งไปยังตลาดสหรัฐ เพื่อทดแทนสินค้าจากจีน (Substitution Effect) และ 3. ด้านการลงทุน (Investment Diversion) อาจจะมีการย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียนและไทย เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งการลงทุนอาจใช้เวลาในบางอุตสาหกรรมเพื่อวางแผนการย้ายกระบวนการผลิต

“โดยรวมแล้วสงครามการค้ากระทบต่อบรรยากาศการค้าและการลงทุนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง คือ เรื่องการระบายสินค้าที่ส่งไปขายไม่ได้ในระหว่างคู่ค้าหลักเข้ามาทุ่มในตลาดประเทศที่สามอย่างไทย และควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง” นางจันทวรรณ กล่าว

อย่างไรก็ดี ธปท. จะมีการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เดือนมิ.ย.นี้ต่อไป

ด้านนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้จับตาสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากสหรัฐประกาศว่าจะขึ้นกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1.92 ล้านล้านบาท นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป และจีนก็มีการตอบโต้ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยต้องจับตาสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดว่ามีผลกระทบกับไทย หรือสินค้าของไทยตัวไหนหรือไม่อย่างไร

รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า ยืนยันว่าผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งจะไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่แท้จริงมากนัก รวมถึงจะไม่กระทบต่อประมาณการเศรษฐกิจไทย ที่ สศค. คาดว่าปีนี้จะขยายตัวได้ 3.8% ด้วย แม้ว่าก่อนหน้านี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จะรายงานภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1/2562 ขยายตัวเพียง 0.5 เป็นผลมาจากการผลิตของพืชเศรษฐกิจหลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และลำไย โดยภาคการเกษตรมีสัดส่วนต่อจีดีพีที่ค่อนข้างต่ำ เพียง 6% เท่านั้น โดย สศค. จะติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด ส่วนตัวเลขคาดการณ์ความเสียหายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังอยู่ระหว่างการติดตามตัวเลขที่ชัดเจน

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 เพื่อให้เกษตรกรได้รับความคุ้มครอง กรณีเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติและภัยจากศัตรูพืช โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1.9 ล้านราย ส่วนโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 9 หมื่นราย

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้มีมาตรการอื่นๆ เพื่อดูแลเกษตรกร เช่น โครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีเกษตร โครงการขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยในระบบ ธ.ก.ส. และโครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน