พลังงานประกาศใช้บี 10 อย่างเป็นทางการถูกลง 1 บาท/ลิตร ลั่นพร้อมขายแทนบี 7 ภายในปี’64 ด้านปตท. เริ่มปูพรมขายปั๊มใต้ 17 พ.ค.นี้ เตรียมเสนอบอร์ดชงคนร. ปิดกิจการบริษัทในเครือ

พลังงานประกาศใช้บี 10 ถูกลง 1 บาท – นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานร่วมแถลงข่าว “พีทีที โออาร์ ผู้นำจำหน่ายดีเซล บี 10 แรง คุ้มค่า รักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมดูแลเกษตรกรไทย” ที่อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่ ว่า กระทรวงได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดมาตรฐานของไทย เพิ่มขึ้นอีก 1 ประเภท ตั้งเป้าหมายให้น้ำมันบี 10 เป็นน้ำมันประเภทหลักของไทยในปี 2564 ทดแทนน้ำมันบี 7 ที่เตรียมยกเลิก ในราคาที่ถูกกว่า 1 บาทต่อลิตร โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุน 65 สตางค์ต่อลิตร และปรับลดอัตราเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตลง 19 สตางค์ต่อลิตร รวมถึงภาษีส่วนอื่นๆ

“มั่นใจกลไกราคาจะจูงใจให้คนหันมาใช้บี 10 มากขึ้นช่วยเพิ่มปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบรวมเป็น 2 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบันที่อยู่ประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี โดยปัจจุบันมีบริษัทรถยนต์ที่ให้การรับรองว่าสามารถใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 10 ได้แล้ว 11 ยี่ห้อ รวม 930 รุ่น จากค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นและสหรัฐ”นายศิริ กล่าว

ส่วนความคืบหน้าการปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) รวม 3 บาทต่อกิโกกรัม (ก.ก.) และขึ้นครั้งแรก 1 บาทต่อกก.วันที่ 16 พ.ค. 2562 นั้นยืนยันไม่มีผลต่ออัตราค่าโดยสารรถสาธารณะที่ใช้เอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิง เพราะเมื่อปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา รถโดยสารสาธารณะได้ปรับขึ้นค่าโดยสารที่คำนวณรวมการขึ้นเอ็นจีวีไปแล้ว 2 บาทต่อก.ก. ดังนั้นการขึ้นในอัตรา 1 บาทต่อก.ก. จึงไม่มีผลแต่อย่างใด

น.ส.จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีที โออาร์ กล่าวว่า ระยะแรก พีทีที โออาร์ จะจำหน่ายน้ำมันบี 10 ในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ทุกแห่งในภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. 2562 และขยายไปยังภาคตะวันออกและภาคกลาง โดยสถานีบริการน้ำมันที่จำหน่ายบี 10 อยู่ที่ 340 สถานีในปี 2562 คาดระยะแรกจะจำหน่ายน้ำมันบี 10 ที่ 3.2 ล้านลิตรต่อวัน ใช้บี 100 ในการผลิต 300,000 ลิตรต่อวัน ดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบได้เพิ่มอีก 92,000 ตันต่อปี และช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้ ทั้งยังขยายจำนวนปั๊มให้จำหน่ายบี 20 ต่อเนื่อง เป็น 100 แห่งทั่วประเทศภายในปีนี้จากปัจจุบันอยู่ที่ 56 แห่ง

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีมติให้ปตท. ปิดกิจการบริษัทลูกในกลุ่มปตท. รวม 30 บริษัท ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการดำเนินกิจการของกลุ่มปตท. ทั้งที่เป็นบริษัทลูกหรือระดับบริษัทขนาดเล็กหรือระดับหลาน เพราะปตท. ดำเนินกิจการมา 40 ปี ที่ผ่านมาก็มีการเปิดๆ ปิดๆ กิจการบริษัทลูกให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละยุคสมัยของการลงทุนที่แปลงแปลงไป ซึ่งเป็นเรื่องปกติเหมือนกับบริษัทเอกชนทั่วๆ ไป และปตท. ได้รายงานให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ปตท. ทราบเพื่อเสนอให้คนร. รับทราบตามปกติ

ปัจจุบันปตท. มีบริษัทย่อยทุกระดับกิจการกว่า 200 บริษัท ซึ่งแม้จะมีการทยอยปิดกิจการลงก็ยังมีการเปิดกิจการในธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ส่วนที่ปิดกิจการมีอาทิ ธุรกิจปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย เพราะธุรกิจดังกล่าวไม่มีอนาคตในระยะยาว รวมทั้งการที่สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศไม่ใช้ปาล์มน้ำมันในหลายๆธุรกิจ ทำให้ตลาดส่งออกปาล์มน้ำมันที่ปตท. ลงทุนจำกัดอยู่ในวงที่แคบจึงต้องปิดการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน