เกษตรฯ ร่วมมือ GIZ เปิดตัวโครงการ Thai Rice NAMA ผลิตข้าวเบอร์ 5 โดยใช้เทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดโลกร้อน หวังเปิดตลาดข้าวรักษ์โลก เพิ่มมูลค่าข้าวไทย

เกษตรฯ ผนึกเยอรมันทำนา – น.ส.ดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับองค์กรความร่วมมือประเทศเยอรมัน (GIZ) ในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือโครงการ Thai Rice NAMA ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 14.9 ล้านยูโร หรือ 600 ล้านบาท จากรัฐบาลเยอรมัน รัฐบาลสหราชอาณาจักร รัฐบาลเดนมาร์กและสหภาพยุโรป (อียู) ผ่านโครงการ NAMA Facility มีระยะเวลาการดำเนินโครงการ 5 ปี (2561-2566)

สำหรับดำเนินงานพัฒนาการผลิตข้าวของเกษตรกร จำนวน 100,000 ครัวเรือนในพื้นที่ 6 จังหวัด ภาคกลาง ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2.8 ล้านไร่ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบการทำนาในปัจจุบันไปสู่ระบบการทำนาแบบยั่งยืน โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงขณะเดียวกันก็ยังเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้นด้วย ซึ่งเป็นการผลิต ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับจากประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ โครงการมีวัตถุประสงค์ คือเพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมแก่เกษตรกรทั้งการทำนาแบบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการผลิตข้าวที่ได้มาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน (Thai Rice GAP++) พัฒนาและขยายธุรกิจการให้บริการเทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการทำนา และให้มีมาตรการจูงใจที่สนับสนุนให้ภาคการผลิตข้าวทั้งระบบเป็นไปในรูปแบบที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“ไทย ได้ยืนยันในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ว่า ไทยประกาศลดก๊าซเรือนกระจก 20% โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ พร้อมลดใช้พลังงานจากฟอสซิล และใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และหากได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ จะลดลงให้ได้ 25% ภายในปีพ.ศ. 2573 ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ ที่ชัดเจนของประเทศไทยที่จะร่วมกับนานาประเทศ ในการดำเนินงานที่ลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

น.ส.ดุจเดือน กล่าวว่า การดำเนินการโครงการนี้จะมุ่งเน้นให้เกษตรกรรายย่อย มีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาแบบปัจจุบันไปสู่การทำนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพันธุ์ข้าวและเทคโนโลยีเฉพาะที่เหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งการปรับพื้นที่ให้เสมอกัน การปลูกแบบเปียกสลับแห้ง การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การจัดการฟางและตอซังเพื่อลดการเผา และอื่นๆ ซึ่งจะประหยัดน้ำและลดน้ำท่วมในแปลงลง

โดยโครงการจะมีการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียน และให้การฝึกอบรมเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยี การผลิตข้าวที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โครงการได้รับความร่วมมือจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ในการปล่อยสินเชื่อสีเขียวให้แก่ ผู้ให้บริการเทคโนโลยีทางการเกษตร เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซ เรือนกระจก นอกจากนี้ โครงการจะให้การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ ในการกำหนดนโยบายและมาตรการ สนับสนุนต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ รวมทั้ง การพัฒนามาตรฐาน Thai Rice GAP++ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงตลาดและห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงการขยายผลในพื้นที่อื่นต่อไป

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ได้รับผลประโยชน์ที่เป็นเกษตรกรและผู้ให้บริการเทคโนโลยีจำนวน 454,200 คน ในพื้นที่เป้าหมายซึ่งปรังประมาณ 2.8 ล้านไร่ และนาปี 2.8 ล้านไร่ จะได้ผลผลิตสูงสุดประมาณ 4 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะติดฉลากข้าวเบอร์ 5 หรือ ข้าวรักษ์โลก เป็นมาตรฐานข้าวยั่งยืนที่ ไทยเป็นประเทศแรกที่ทำได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน