นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) เปิดเผยว่า แม้ว่าก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมจะเห็นชอบให้ใช้การลงทุนรูปแบบพีพีพี กรอสคอสต์ (PPP Gross Cost)ในการจัดเก็บค่าผ่านทางและบำรุงรักษา(โอ แอนด์ เอ็ม) ในโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง2เสน้ทางคือสายบางใหญ่–กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. และบางปะอิน–นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร(กม.) แต่เนื่องจากขณะนี้มีหลายฝ่ายโต้แย้งว่าทางเลือกการลงทุน ทั้ง 2 รูปแบบคือ พีพีพี กรอสคอสต์ (PPP Gross Cost) และพีพีพี เน็ต คอสต์ (PPP Net Cost) อาจไม่เข้าเงื่อนไขตามพ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ซึ่งอาจจะทำกรมให้ไม่สามารถเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนเพื่อลดภาระงบประมาณรัฐบาลได้

“ช่วงต้นเดือนต.ค. กรมจะเสนอเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความและให้ความเห็นว่า การลงทุน2รูปแบบ เข้าข่ายกม.ร่วมทุนหรือไม่ หากไม่เข้าเงื่อนไขจะต้องทำอย่างให้เข้าเงื่อนไข หรือมีทางเลือกลงทุนแบบอื่นๆอีกหรือไม่อย่างไร คาดว่ากฤษฎีกาจะเสนอความเห็นกลับมาให้กรม ประมาณเดือนพ.ย. นี้” นายอานนท์ กล่าวและว่าขณะนี้หลายฝ่ายโต้แย้งว่าการลงทุนรูปแบบพีพีพี กรอสคอสต์ เป็นการจ้างเอกชนเข้ามาจัดเก็บค่าผ่านทางโดยรัฐจ่ายค่าจ้างเก็บตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี โดยเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางเอง ซึ่งรูปแบบนี้ถูกท้วงติงว่าการจ้างเอกชนอาจจะตีความได้ว่าเป็นการจ้างเหมาไม่ใช่การโอนสิทธิ์การจัดเก็บ ดังนั้นอาจจะไม่เข้าเงื่อนไขตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ส่วนรูปแบบพีพีพี เน็ต คอสต์ที่เป็นการยกสัมปทานให้ทั้งหมด ทั้งการลงทุนติดตั้งระบบและเก็บค่าผ่านทางให้เอกชนนั้น อาจมีปัญหาเรื่องพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน เพราะตามกฎหมายเวนคืนระบุว่าให้มีการเวนคืนที่ดินไปสร้างทางหลวงพิเศษไม่ใช่ทางหลวงสัมปทาน

ทั้งนี้หากกฤษฎีกาเห็นว่าการลงทุน2แบบเข้าข่ายตามพ.ร.บ.ร่วมทุนกรม กรมก็จะเดินหน้าต่อตามแนวทางเดิมคือพีพีพี กรอสคอสต์ แต่หากทั้ง2รูปแบบไม่เข้าเงื่อนไข พ.ร.บ.ร่วมทุน จะต้องรอดูความเห็นและคำแนะนำของกฤษฎีกา ทั้งนี้ในส่วนของกรมเบื้องต้นมีความเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบคือ 1. ปรับเปลี่ยนรูปการลงทุนมาเป็นรัฐบาลลงทุนเองทั้งหมดเหมือนกับงานโยธาที่ผ่านมา ซึ่งกรมจะต้องขอรับจัดสรรงบประมาณปี 61 ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี61 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายเดิม และ2.อาจจะมีการแก้ไขพ.ร.บ.การจัดเก็บค่าผ่านทาง เพื่อโอนสิทธิ์การจัดเก็บค่าผ่านทางให้เอกชน เพื่อให้เข้าเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3- 6 เดือน ซึ่งขณะนี้พอจะมีเวลาหาก ทั้งนี้เชื่อว่าจะไม่กระทบการการดำเนินโครงการภาพรวม คาดว่าจะหาได้ตัวผู้รับเหมาทั้ง2โครงการภายในปลายปี 60 และเริ่มก่อสร้างปี 61 ตามเป้าหมายเดิม

motor-way

ด้านนายกมล หมั่นทำ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่าลงนามสัญญาจ้างโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา และโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 สาย บางใหญ่-กาญจนบุรี เพิ่ทมเติมอีก รวมสองสาย 24 ตอน เป็นวงเงิน 3.28หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็น ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 จำนวน 17 ตอนและ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 จำนวน 7 ตอน

ภายหลังการลงนามทำให้ภาพรวมโครงการในปัจจุบัน สำหรับสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่มีระยะทางรวม 96 กิโลเมตร (กม.) วงเงินรวม 4.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งแบ่งช่วงก่อสร้างออกเป็น 25 ตอน จัดหาผู้รับเหมา และลงนามสัญญาจ้างไปแล้วจำนวน 7 ตอน ในวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 205.115 กม. วงเงินงานโยธา 6.99 หมื่นล้านบาท ซึ่ง แบ่งช่วงก่อสร้างเป็น 40 ตอน ได้ลงนามสัญญาจ้างไปแล้วจำนวน 21 ตอน วงเงินรวม 2.9 หมื่นล้านบาท

“ทล.เตรียมที่จะเปิดประมูลโครงการต่อเนื่อง โดยในเดือน ต.ค.นี้จะเปิดประมูลตอนที่เหลือของทั้ง2เส้น รวมทั้งสิ้นอีก 31 ตอน มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็น สายบางใหญ่-กาญจนบุรี จำนวน 16 ตอน มูลค่าราว 3 หมื่นล้านบาท และสายบางปะอิน-นครราชสีมา จำนวน 15 ตอน มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท หากได้ผู้ชนะก็ จะเสนอขอความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อลงนามสัญญาจ้างทั้งหมดได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้”นายกมล กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน