สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ถอยหั่นเป้าเอ็มพีไอ-จีดีพีอุตฯ เหลือ 1.5-2.5% พิษสงครามการค้าจีน-สหรัฐ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

สศอ. หั่นเป้าเอ็มพีไอ-จีดีพีอุตฯ – นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ได้ปรับประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) และผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมปี 2562 ทั้งปี ลงอยู่ในระดับเดียวกันที่ 1.5-2.5% จากเดิมคาดไว้ที่ 2-3% เนื่องจากผลกระทบจากสงครามการค้าระว่างจีน-สหรัฐ และภาพรวมเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เห็นได้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้อยู่ที่ 3.3% ลดลงจากเดิมคาดไว้ที่ 3.5% ซึ่งเป็นผลพวงจากหลายประเทศทยอยยุติการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ (คิวอี) อย่างสหรัฐยุติคิวอีตั้งแต่ปลายปี 2560 กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น ยุติการซื้อตราสารหนี้ เป็นต้น

ทั้งนี้ สอดคล้องกับธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้อยู่ที่ 3.8% ลดลงจากเดิมคาดไว้ที่ 3.9% สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. หรือสภาพัฒน์) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโต 3.3-3.8% ลดลงจากเดิมคาดไว้ที่ 3.5-4.5% สะท้อนได้จากดัชนีเอ็มพีไอไตรมาส 1/2562 เริ่มติดลบ 1.17% จากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ส่งผลกระทบต่อเอ็มพีไอในเดือนพ.ค. และแนวโน้มในระยะต่อไปไม่สดใสมากนัก

“ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ เริ่มเห็นผลกระทบชัดจนมากขึ้นตั้งแต่เดือนพ.ย. 2561 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ที่ส่งสินค้าทางเรือ ทาง สศอ. จึงอยากเสนอแนวทางปรับตัวและมาตรการปรับโครงสร้างการผลิต ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง สอดคล้องกับอุตสาหกรรมอนาคต เช่น อีวี หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อาหารทางเลือก และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) รวมถึงพัฒนาความร่วมมือ สร้างโครงข่ายการผลิตกับประเทศคู่ค้าใหม่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อรองรับการย้ายสายการผลิต”รองผู้อำนวยการ สศอ.กล่าว

ขณะที่ดัชนีเอ็มพีไอเดือนเม.ย. 2562 แม้จะขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.03% อยู่ที่ระดับ 95.91 แต่ต่ำสุดในรอบ 11 เดือนตามฤดูกาล มูลค่านำเข้าสินค้าวัตถุดิบติดลบต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน โดยล่าสุดเดือนเม.ย.หดตัว 2.1% อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 63.89% เอ็มพีไอ 4 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) หดตัว 0.47% จีดีพีภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 1/2562 ขยายตัว 0.6%

นายอดิทัต กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การเมืองในประเทศผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองเป็นปัจจัยบวก เพราะยังมีความมั่นใจว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้แล้วเสร็จภายใน 1-2 สัปดาห์ และไม่ว่าพรรคไหนจะเข้ามาเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และพรรคไหนได้เข้ามาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็เชื่อว่าจะสามารถขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ได้ พรรคแต่ละพรรคมีนโยบายไม่แตกต่างกันมาก และมั่นใจว่ารัฐบาลใหม่ที่จัดตั้งขึ้นจะมีเสถียรภาพในการทำงาน ไม่น่าส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน