ส่องร้านธนพิริยะค้าปลีกภูธร ตั้งเป้าสยายปีกทั่วเชียงรายพะเยา

คอลัมน์ – สัมภาษณ์พิเศษ

ส่องร้าน‘ธนพิริยะ’ค้าปลีกภูธร – หากเป็นคนเชียงรายพะเยาอาจจะคุ้นชื่อร้านธนพิริยะเป็นอย่างดีเพราะเป็นร้านที่กระจายอยู่ทั่วไปในสองจังหวัดนี้ โดยที่เชียงรายมี 22 สาขา ส่วนพะเยามี 2 สาขา ร้านดังกล่าวอยู่ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) หรือ TNP ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งของคนไทยรายแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในร้านจำหน่ายข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันครบครัน โดยทางร้านใช้สโลแกนราคาถูกจริงช็อปปิ้งถูกใจ อยู่ใกล้บ้านคุณ

ธวัชชัย-ภญ.อมร พุฒิพิริยะ

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีโอกาสสนทนากับ นายธวัชชัย พุฒิพิริยะ กรรมการผู้จัดการ TNP และ เภสัชกรหญิง(ภญ.)อมร พุฒิพิริยะ รองกรรมการผู้จัดการ TNP สองสามีภรรยาที่ปลุกปั้นกิจการค้าปลีกภูธรจนประสบความสำเร็จ โดยมีที่มาที่ไปมาจากร้านขายของชำแผงลอยในตลาดสดของเทศบาลเชียงรายชื่อโง้วทองชัยเปิดตั้งแต่ปี 2508 เป็นร้านครอบครัวของนายธวัชชัย จากนั้นปี 2534 หลังจากนายธวัชชัยเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็มาเปิดร้านมินิมาร์ตชื่อพิริยะมินิมาร์ท ควบคู่กับร้านขายยา ที่บริเวณหอนาฬิกา .เมือง .เชียงราย

ปี 2543 จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนพิริยะปี 2555 เปลี่ยนเป็นบริษัทธนพิริยะ จำกัดและในปี 2556 ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนและชำระแล้วเป็น 50 ล้านบาท ปี 2557 บริษัทได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 145 ล้านบาท และได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ เมื่อปี 2558 โดยเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 200 ล้านบาท และจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 50 ล้านบาท ซึ่งก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มีอยู่ 7 สาขา

สำหรับชื่อร้านที่เป็นชื่อไทยๆ นี้ ภญ.อมรบอกแปลว่าทรัพย์สมบัติที่ได้มาจากความเพียรและแม้ปัจจุบันจะมีร้านอยู่ถึง 24 สาขา แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเพราะไม่มีเงินทุนก้อนใหญ่อยู่ในมือ อย่างสาขาแรกเปิดที่บริเวณหอนาฬิกา .เมือง .เชียงราย แต่กว่าจะขยายสาขา 2 ใช้เวลานานถึง 16 ปี เพราะต้องเก็บสะสมเงินทุนก่อนขยาย อีกทั้งการทำธุรกิจค้าปลีกแบบนี้ทำในลักษณะเรียนรู้ลองผิดลองถูก

อย่างไรก็ตาม ปีนี้จะขยายสาขาที่พะเยาอีก 2 สาขา และจะขยายในเชียงรายอีกประมาณ 5 สาขา เนื่องจากมองว่าเป็นเมืองที่มีศักยภาพและยังเติบโตได้เยอะในฐานะ ที่เป็นเมืองชายแดนติดกับประเทศลาว เมียนมาและข้ามไปจีนและเวียดนามได้ อีกทั้งยังเติบโตมากในส่วนของการท่องเที่ยว โดยแต่ละสาขาลงทุนประมาณ 10-15 ล้าน ไม่รวมค่าที่ดิน

แม้ช่วง 10-20 ปีมานี้ ร้านโชห่วยแบบโบราณของบ้านเราจะล้มหายตายไปกันเกือบหมด แต่ในส่วนของร้านธนพิริยะกลับขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง อย่างที่ ภญ.อมรเล่าว่า จากประสบการณ์มองเห็นว่าการขายปลีกกำไรดีกว่าขายส่ง ขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้ระบบการบริหารจัดการต่างๆ โดยใช้เซเว่นอีเลฟเว่น เป็นแม่แบบ ขณะเดียวกันก็ผสมผสานกับในส่วนของโมเดิร์นเทรดอย่างบิ๊กซี และร้านค้าของประเทศญี่ปุ่นด้วย ซึ่งมีอายุยืนยาวเป็นร้อยกว่าปี

เราเห็นเซเว่นฯ ขยายเลยมองว่าตลาดมีช่องว่าง ถ้าเขายังขยายสาขาต่อไปได้ แสดงว่าเขามีข้อมูล เราก็ดูตามเขาไปนั่นแหละสาเหตุที่ร้านเราไม่ตายเพราะเราพัฒนาจากที่ร้านสะลึมสะลือ สลัว เราก็ใส่ไฟเหมือนเซเว่นฯ ให้มันสว่าง และที่ร้านเราอยู่ในใจของพวกลูกค้า โดยเฉพาะแม่บ้านนั้น เพราะเราดูต้นทุนทุกวัน ดูรายการการรับซื้อสินค้าเข้า ดูแลการต่อรองกับซัพพลายเออร์ เพื่อให้ได้ของที่ดีที่สุด ถูกที่สุด ราคาดีที่สุด คุ้มค่าที่สุด ส่งมอบให้ลูกค้า ซึ่งตอนนี้ก็มีขายผ่านทางออนไลน์ด้วย อีกทั้งเราจัดรายการส่งเสริมการขายตลอด มีลด แลก แจก แถม มีระบบสมาชิก และเรายังมีงบประมาณในการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม ช่วยเหลือกิจกรรมในชุมชนตลอด

นายธวัชชัยให้ข้อมูลถึงผลประกอบการปี 2561 ว่า บริษัทมีรายได้ 1,769.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 171.47 ล้านบาท คิดเป็น 10.73% เมื่อเทียบกับปี 2560 วงเงิน 1,597.71 ล้านบาท กำไรขั้นต้นอยู่ที่ 244.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.08% มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 13.84% กำไรสุทธิอยู่ที่ 65.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.28% จากปีก่อนอยู่ที่ 61.29 ล้านบาท มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 3.66% เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องทุกปี

กรรมการผู้จัดการ TNP ยังบอกด้วยว่า หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ธุรกิจเปลี่ยนไป โดยมีอัตราเร่งสูงมากในการที่จะเปิดสาขาได้เร็วขึ้น เนื่องจากได้ระบบที่มาจากการออดิต (AUDIT) และมีการปรับเปลี่ยนทำงานให้เป็นระบบมากขึ้น พร้อมทั้งมีการจัดทำงบการเงิน และตั้งเป้าหมายเติบโตประมาณปีละ 10-15 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันมีคู่ค้าเกือบ 400 รายเฉพาะในประเทศ อันที่จริงบริษัทไม่ได้คิดจะเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อหวังระดมเงินทุน เพราะไม่มีความจำเป็น แต่สิ่งที่บริษัทอยากได้คือการอยู่อย่างยั่งยืนด้วยระบบกำกับดูแลที่ดี

การเข้าตลาดฯ มีข้อดีอย่างหนึ่ง อันดับแรกคือ ระบบเราจะดี มีมาตรฐาน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือแบรนด์ พูดได้ว่าแบรนด์เราดังมากตอนนี้คนเชียงรายภูมิใจมาก ที่ธนพิริยะเป็นบริษัทของคนเชียงราย เขาดีใจมาก เขาอยากมาซื้อที่นี่ นี่คือการสร้างแบรนด์ที่สำคัญมาก โดยที่เราไม่ต้องจ่ายเงิน เราได้แบรนด์มาเลย ดังไปทั่ว และมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ซัพพลายเออร์ก็วิ่งเข้ามา ทำให้ได้คุยกัน แบบวินวินเพราะเขาเห็นเราเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เขาก็มั่นใจเรื่องการเงิน

สำหรับคนที่ยังไม่เคยเข้าร้านธนพิริยะ อาจจะคิดว่าคงเหมือนกับร้านเซเว่นฯ ประเด็นนี้นายธวัชชัยอธิบายให้เห็นภาพว่ามีคนบอกว่าร้านเราคล้ายๆ TOPS ต่างกับ TOPS คือไม่มีของสดแค่นั้น

โมเดลธุรกิจของเราระดับเดียวกับ TOPS ร้านเราไม่ได้แข่งกับเซเว่นฯ ผมแข่งกับพวกห้างใหญ่โมเดิร์นเทรดไซซ์ใหญ่ๆ แต่ผมทำหดลงมาเป็นไซซ์เล็ก ลดคอร์สมาแข่งกับเขา ทำให้ราคาถูกกว่าเขา ทำให้เราสามารถแข่งขันกับห้างใหญ่ได้ เราไม่ได้แข่งกับ เซเว่นฯ เป็นคนละกลุ่มกัน ถ้าอยู่ร่วมกันเมื่อไหร่มันดึงคนไปอยู่ด้วยกันเลย ทำงานร่วมกัน อันนั้นคือสิ่งที่ผมคิด ผมจะไม่แข่งกับ เซเว่นฯ แต่ผมจะให้เซเว่นฯ ดึงคนมาอยู่กับผมด้วย เราแข่งกับห้างใหญ่มากกว่า

จากการเป็นร้านค้าขายปลีกในส่วนภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จ และเป็นรายแรกที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ จึงมีผู้คนมาศึกษาดูงานจากทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นพวกห้างท้องถิ่นที่อยากจะพัฒนาธุรกิจต่อ ต่างมาดูระบบการกระจายสินค้า ดูระบบ HR, บัญชี, การเงิน และโอเปอเรชั่น(operation) หน้าร้าน

นับเป็นร้านค้าปลีกแบรนด์ไทยอีกเจ้า ที่น่าจับตามอง ซึ่งใช่เพียงจะมุ่งขายทำกำไรอย่างเดียว แต่ยังเจียดเม็ดเงินบางส่วนมาช่วยเหลือสังคมอีกด้วย

โดย ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน