เอกชนปรับเป้าส่งออกติดลบ 1% จากปัญหาสงครามการค้า การเมืองไม่เสถียร แถมบาทแข็งโป๊ก ซัดส่งออกปีนี้มีความลำบากมากขึ้น

เอกชนหั่นเป้าส่งออกติดลบ 1% – น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สภาผู้ส่งออกฯ ปรับค่าการส่งออกทั้งปี 2562 อยู่ในกรอบติดลบ 1 ถึง 0% จากเส้นการคาดการณ์ก่อนหน้านี้โตที่ 1% โดยอยู่สมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ รวมทั้งมีปัจจัยบวกสำหรับการส่งออกในบางตลาด โดยเฉพาะตลาดอินเดีย แคนนาดา รัสเซีย การส่งออกขยายตัวได้ดี รวมไปถึงการผลักดัน อาร์เซป ที่จะทำมีผลต่อการค้าในอนาคต และผลการตัดสินข้อพิพาทองค์การการค้าโลก (WTO) ในการจัดสรรโควตาสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นโอกาสที่จะทำให้ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไทยได้เพิ่มขึ้น ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ยังมีนโยบายจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือผู้ประกอบการภายใต้กองทุนเอฟทีเอ เพื่อให้เอกชนสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น อีกทั้งยังมีปัจจัยที่เกิดจากสหรัฐยืนยันว่าจะไม่ปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนซึ่งจะมีผลดีต่อบรรยากาศการค้าและเศรษฐกิจโลก

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือความผันผวนของค่าเงินบาท ที่ไม่สะท้อนต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามกรณีธนาคารสหรัฐกลางและยุโรปมีแนวโน้มจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยอาจจะมีผลกระทบต่อสกุลเงินหลัก และสะท้อนกระทบต่อเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอีกครั้งอาจจะมีผลกระทบมายังค่าเงินบาท ให้แข็งค่าขึ้นและกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ ราคาน้ำมันมีความผันผวนซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้ผลิตในเรื่องของการพิจารณาต้นทุนสินค้าอาจจะมีผลต่อการแข่งขัน แล้วยังมีเรื่องของบางอุตสาหกรรมที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการและปัจจัยการผลิตมีผลทำให้มีการเคลื่อนย้ายการลงทุนมากขึ้น

อย่างไรก็ดี สภาผู้ส่งออกฯ ต้องการให้ภาครัฐ เข้ามาดูแลเรื่องเสถียรภาพทางการเงินไม่ให้มีความผันผวน หรือสอดคล้องกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ ขณะที่ผู้ประกอบการเองอาจจะต้องมีการปรับตัวในเรื่องของการประกันความเสี่ยงของค่าเงิน แม้จะมีผลกระทบต่อต้นทุนของราคาสินค้าและศักยภาพในการแข่งขัน และอีกปัจจัยหนึ่งคือต้องการให้จัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว และมีนโยบายในการผลักดันการค้าระหว่างประเทศโดยเร็วที่สุด รวมไปถึงการเร่งเจรจาการค้าในกรอบต่างๆ ส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ปรับโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะเรื่องของระบบโลจิสติกส์ที่จะส่งเสริมด้านการแข่งขันให้มากขึ้น

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม จี 20 ที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งภาคเอกชนได้ติดตามการเคลื่อนไหวของสหรัฐและจีน ในกรณีสงครามการค้าซึ่งในการประชุมระดับผู้นำครั้งนี้ทั้ง 2 ประเทศได้มีการพบปะและมีการยืนยันว่าจะไม่ปรับขึ้นภาษีสินค้า ในประเด็นดังกล่าวยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สหรัฐจะไม่มีการปรับขึ้นภาษีสินค้าเพิ่มเติมรวมไปถึงจีน ซึ่งมองว่าเป็นผลกระทบที่ดีในระยะสั้นและอาจจะให้มีการนำเข้าสินค้าเพิ่มเติมได้ แต่ทั้งนี้ ภาคเอกชนก็ยังไม่เชื่อมั่นในการพูดคุยครั้งนี้โดยเฉพาะสหรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาเห็นหลายครั้งว่าจะไม่มีการปรับขึ้นภาษี แต่สุดท้ายก็มีการปรับขึ้น ประเด็นนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

ขณะนี้ ยอมรับว่าเศรษฐกิจในหลายประเทศยังมีปัญหาและกระทบต่อการนำเข้าสินค้าซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ ขณะที่ประเทศไทย 5 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกของไทยติดลบมากขึ้น ซึ่งนอกจากปัจจัยภายนอกที่มาจากปัญหาหลักของสงครามการค้าแล้ว แต่ประเทศไทยตอนนี้ยังเจอปัญหาเรื่องของเงินบาทที่แข็งค่าอย่างมาก ความไม่มั่นคงทางการเมืองซึ่งมีผลต่อนโยบายการค้าต่างๆ จึงบอกว่าภาพการส่งออกในปีนี้อาจจะมีความลำบากมากขึ้น

โดยล่าสุด คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ได้ประเมินการส่งออก ขยายตัวอยู่ในกรอบลบ 1 ถึง 0% ซึ่งเป็นการประเมินคาดการณ์ของสภาผู้ส่งออกฯ ด้วย ขณะที่ แบงก์ชาติประเมินการส่งออกทั้งปีลดลงเหลือ 0% เศรษฐกิจขยายตัว 3.3%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน