นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ปรึกษารมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ช่วยเหลือเอสเอ็มอี เปิดเผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับเงินกองทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม วงเงิน 2,000 ล้านบาท หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการแล้วว่าขณะนี้คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีกระทรวงการคลังเป็นประธานกำลังพิจารณาหลักเกณฑ์ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 1 เดือน เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีปัญหาผ่านช่องทางของศูนย์

“ก่อนหน้านี้ศูนย์มีงบประมาณ 1,000 ล้านบาทจากกองทุนพลิกฟื้นฯ เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีปัญหาด้านการเงิน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ 500 กว่าเรื่อง คาดจะช่วยผู้ประกอบการได้ 1,500-2,000 ราย สำหรับรายที่พร้อมและผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณา และมีข่าวดีอีกคือ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีก 2,000 ล้านบาท ให้เอสเอ็มอีมาขอรับความช่วยเหลือ เบื้องต้นจะเน้นในกลุ่มมีศักยภาพที่ขาดสภาพคล่องทางการเงินแต่อาจยังไม่เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ซึ่งขึ้นอยู่กับคณะกรรมการจะพิจารณาอีกครั้ง”นายสนธิรัตน์ กล่าว

ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีเอสเอ็มอีซึ่งประสบปัญหาต่างๆ ติดต่อขอรับบริการจากศูนย์ SME Rescue Center รวมทั้งสิ้น 1,435 ราย จำนวน 2,711 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 129 ราย โดยเป็นปัญหาทางด้านการเงินมากที่สุด 46% รองลงมาเป็นปัญหาทางด้านการตลาด 20% การผลิต 13% การบริหารจัดการ 8% และอื่นๆ 14% คาดภายใน 1 ปี จะมีผู้มาขอรับบริการประมาณ 20,000 ราย ผ่านหน่วยงานเครือข่าย 3,800 แห่งทั่วประเทศ

ด้านนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.หรือ เอสเอ็มอีแบงก์) กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเอสเอ็มอีต้องการให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไป โดยไม่ต้องเสียเวลาและเงินในการถูกดำเนินคดี บางรายเป็นคดีความแล้วกว่าจะสิ้นสุดกลับมาทำธุรกิจได้ต้องใช้เวลา 7-10 ปี ซึ่งสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากสถิติของเอสเอ็มอี 2-3 ล้านราย เคยมีปัญหาด้านการเงิน 16-17%

ส่วนหนึ่งผู้ประกอบการมักจะขาดความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน พอธุรกิจมีปัญหาก็ไม่ชำระเงินค่างวด ค้างเกิน 4 เดือนก็กลายเป็นหนี้เสีย เกิน 6 เดือนก็ถูกดำเนินคดีความ ซึ่งกระบวนการนี้จะใช้เวลา 1-3 ปี ตามสิทธิของตนเองแล้วผู้ประกอบการนอกจากขอปรับจำนวนงวดในการชำระเงินได้แล้ว ยังสามารถเจรจาผ่อนผันกับสถาบันทางการเงินเพื่อขอเลื่อนหรือขยายเวลาชำระที่เหมาะสมไม่ให้เป็นหนี้เสีย ดังนั้นทางธนาคารจึงกำลังสร้างกลไกเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อลดจำนวนผู้ประกอบการที่มีปัญหาทางการเงินให้เหลือ 7-8%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน