‘ไพรินทร์’ การันตี บอร์ด กทพ. ทำตามมติครม.ถูกต้อง กรณีที่ยืดสัมปทาน 3 ทางด่วนให้ บีอีเอ็มแลกค่าโง่ พร้อมโยนรัฐบาลใหม่ตัดสินชี้ขาด

ยันยืดสัมทานแลกค่าโง่ทำถูกต้อง – นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่หลายฝ่ายมีการออกมาคัดค้านมติบอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กรณีมีมติให้ขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม อีก 30 ปี เพื่อแลกกับการยุติข้อพิพาทซึ่งมีมูลหนี้ฟ้องร้องจำนวน 2 คดี มูลหนี้รวม 1.37 แสนล้านบาท ว่า ปัจจุบัน กทพ. มีปัญหา 2 ข้อคือรายได้ไม่เติบโตไม่ตามเป้าหมาย เนื่องจากไม่มีการขยายทางด่วนมากกว่า 30 ปี และมีปัญหาถูกบีอีเอ็ม ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานฟ้องร้อง 2 คดี คือ คดีไม่ขึ้นค่าผ่านทางและสร้างทางด่วนโทลล์เวย์แข่งขัน ซึ่งทั้ง 2 คดี มีมูลหนี้ฟ้องร้องกว่า 1 แสนล้านบาท โดยขณะนี้คดีสร้างทางด่วนแข่งขันยุติแล้ว ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ กทพ. ชดใช้ 6 พันล้านบาท (รวมดอกเบี้ย) ส่วนคดีไม่ขึ้นค่าผ่านทางยังอยู่ในขั้นตอนของศาล

เบื้องต้นรัฐบาลได้นำปัญหาของ กทพ. เข้าหารือในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งครม. มีมติให้ กทพ. ไปแก้ปัญหาด้วยการเจรจากับบีอีเอ็มโดยไม่ต้องรอผลตัดสินของศาลในคดีไม่ปรับขึ้นค่าผ่านเนื่องจากมองว่าศาลน่าจะตัดสินโดยยึดสาระสำคัญของสัญญาที่กทพ. ลงนามไว้ตั้งแต่แรก ที่มีการระบุให้อีเอ็มปรับขึ้นค่าผ่านทางได้ตามสัญญา รวมทั้งปัจจุบันไทยมีโครงการลงทุนในรูปแบบพีพีพีอีกหลายโครงการ โดยเฉพาะในอีอีซี หากศาลตัดสินในแนวทางที่ขัดแย้งกับข้อสัญญาที่รัฐบาลเซ็นไว้กับนักลงทุนเอกชนแล้ว ประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปได้ยังไง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าครม. จะมีมติให้ไปเจรจากับบีอีเอ็มแต่ก็มีเงื่อนไขกำหนดไว้ว่า กทพ. จะต้องไม่จ่ายชดใช้มูลหนี้ฟ้องร้องเป็นเงิน ที่สำคัญประชาชนและพนักงาน กทพ. จะต้องได้ประโยชน์จากผลการเจรจา และต้องมีการยุติข้อพิพาททั้ง 2 คดี เพราะหากยืดเยื้อจะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นเหมือนกับกรณีค่าโง่โฮปเวลล์ ซึ่งมีมูลหนี้เพียง 1 หมื่นล้านบาท แต่หลังจากคดียืดเยื้อกลับทำให้มูลหนี้เพิ่มเป็น 2.6 หมื่นล้านบาท

นายไพรรินทร์ กล่าวว่า สุดท้ายบอร์ด กทพ. มีมติขยายเวลาสัมปทานทางด่วนจำนวน 3 สัญญา ให้กับบีอีเอ็ม สัญญาละอีก 15 ปี ขณะที่บีอีเอ็มยอมลงมูลหนี้ฟ้องร้องเหลือ 5.9 หมื่นล้านบาท และจะยอมยุติคดีทั้ง 2 คดี รวมทั้งบีอีเอ็มจะลงทุนก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้น บริเวณอโศก-ศรีนครินทร์ อีก 3 หมื่นล้านบาทให้ด้วย โดยมีเงื่อนไขว่าหากไม่สามารถก่อสร้างได้เพราะโครงการไม่ผ่านอีไอเอภายใน 2 ปีจะถูกปรับลดระยะเวลาการขยายสัมปทานทางด่วน ช่วงอโศก-ศรีครินทร์ลงเหลือ 15 ปี จากเดิม 30 ปี ซึ่งในเงื่อนไขนี้ กพท. ไม่ได้ขยายสัมปทานให้ 30 ปีทั้งหมด เพราะหาก บีอีเอ็มทำอีไอเอก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้นไม่ผ่านก็จะได้ต่ออายุสัมปทานแค่ 15 ปี ไม่ใช่ 30 ปี เหมือนที่หลายฝ่ายเข้าใจผิดและะออกมาแสดงความกังวล

“จากข้อสรุปนี้ถือว่าบอร์ด กทพ. ได้ทำตามมติครม. ถูกต้องตามหลักการทั้งหมดแล้ว คือไม่จ่ายเป็นเงินชดใช้มูลหนี้ และประชาชาก็ได้ประโยชน์จากการที่ กทพ. จะลงทุนก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้น บริเวณอโศก-ศรีนครินทร์ เพิ่มให้ แต่ที่กระทรวงเสนอเรื่องกลับให้บอร์ดกทพ. พิจารณาอีกครั้งก็เนื่องจากต้องการให้ไปดูเพิ่มเติมในส่วนของวิธีการเท่านั้น ว่าต้องตามขั้นตอนของพ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ต้องยึดตามกฎหมายปี 2535, 2552 หรือ 2562 ครบถ้วนถูกต้องหรือไม่อย่างไร จากนั้นให้สรุปเสนอให้รัฐบาลใหม่ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ จะต้องตัดสิน ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน