‘ศักดิ์สยาม’ แตะเบรกไฮสปีด 3 สนามบิน ขอดูสัญญาก่อนลงนามกับซีพี คาดอาจไม่ทันตามเป้าภายในก.ค. นี้

แตะเบรกไฮสปีด 3 สนามบิน – นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อรับทราบความคืบหน้าโครงการต่างๆ ของ รฟท. ว่า ขณะนี้มีความกังวลโดยฝากให้ รฟท. ดูรายละเอียดเกี่ยวกับร่างสัญญา โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ให้รอบคอบ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนร่างสัญญา เพื่อเตรียมลงนามกับเอกชนที่ชนะการประมูล โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการให้เข้าใจตรงกันทั้ง 2 ฝ่าย

“ขอให้รถไฟดูให้รอบคอบ เพราะหากลงนามไปแล้วส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ตามที่กำหนด หากผิดไปจากสัญญาจะมีปัญหา ต้องลงไปดูในพื้นที่ให้ชัดเจนว่ามีปัญหาบุกรุกตรงไหน และจะส่งมอบพื้นที่เมื่อไหร่ ก่อนจะลงนาม และขอให้ รฟท. มาคุยกับผมอีกรอบ เพื่อความรอบคอบ ส่วนเรื่องกรอบเวลาลงนามตามเป้าหมายเดิมภายในเดือนก.ค.นี้ จะทันหรือไม่ทัน ไม่ใช่ประเด็น เพราะอยากให้รอบคอบมากกว่า”

นายวรวุฒิกล่าวว่า ขณะนี้ รฟท. ได้ส่งรายละเอียดแผนส่งมอบพื้นที่ให้กับกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่มซีพี ซึ่งเป็นเอกชนที่ชนะการประมูล ไปแล้ว โดยซีพีกำลังนำข้อมูลไปเทียบกับแผนก่อสร้าง เพื่อจัดทำข้อมูลให้ตรงกัน หากแผนส่งมอบและก่อสร้างสอดคล้องกันแล้ว ก็จะจัดทำเป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา และนัดวันลงนามสัญญาได้

ทั้งนี้ รฟท. ยังกำหนดเป้าหมายลงนามในสัญญาให้ได้ภายในเดือนก.ค. ตามเดิม แต่หากไม่ทันเชื่อว่าจะสามารถชี้แจงและรายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้รับทราบ ไม่ถือเป็นเรื่องที่ผิดพลาด เพราะที่ผ่านมาได้ทำตามขั้นตอนมาโดยตลอด และปัจจุบันมีความคืบหน้าของงานตามขั้นตอน ที่สำคัญเรื่องส่งมอบพื้นที่มีข้อมูลค่อนข้างมาก

นายวรวุฒิ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาคณะทำงานของ รฟท. ได้ลงพื้นที่จริงเพื่อสำรวจแนวก่อสร้างโครงการ พร้อมทั้งตรวจสอบด้วยว่าพื้นที่ใดที่มีผู้บุกรุก พบว่าพื้นที่ที่มีปัญหาบุกรุกส่วนใหญ่อยู่ในเขตก่อสร้างช่วงบางซื่อ-หัวหมาก ดังนั้นหากซีพียังไม่มีแผนก่อสร้างด่วนในพื้นที่นี้ ก็ถือว่าแผนสอดคล้องกัน สามารถลงนามร่วมทุนได้

ส่วนกรณีผู้รับผิดชอบทุบเสาโฮปเวลล์ รฟท. ยืนยันว่าเป็นหน้าที่ของเอกชน เพราะในร่างสัญญากำหนดว่าสิ่งกีดขวางฝ่ายเอกชนจะต้องเป็นผู้รื้อถอน เนื่องจากภาครัฐได้สนับสนุนงบประมาณส่วนนี้ไว้ในเงินอุดหนุนโครงการแล้ว แต่ขณะนี้ยังเห็นไม่ตรงกันกับซีพีจึงอาจจะต้องหารือกันอีกครั้ง ก่อนลงนามสัญญา แต่หากซีพี ยืนยันที่จะไม่รื้อถอนรฟท. อาจจะต้องหักเงินอุดหนุนส่วนนี้ออกจาก โครงการ

ด้านนายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการ กลุ่มบริหารรถไฟฟ้า รฟท. กล่าวว่า คณะทำงานของ รฟท. จะหารือร่วมกับ กลุ่มซีพี เพื่อสรุปรายละเอียดส่งมอบพื้นที่ใน วันศุกร์ที่ 26 ก.ค.นี้ ซึ่งขณะนี้ซีพี ยังตกลงแบ่งงานผู้รับเหมาไม่เสร็จ ทำให้ยังส่งมอบแผนก่อสร้างให้รฟท. ไม่ได้ ซึ่งหากการประชุมครั้งหน้ายังไม่ได้ข้อสรุป รฟท. จะขอสรุปส่งมอบพื้นที่ที่มีความพร้อม 80% ก่อน หลังจากนั้นจะทยอยส่งมอบ 20% ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี

ส่วนพื้นที่ก่อสร้างโครงการที่ รฟท. ต้องส่งมอบมีทั้งหมด 4,421 ไร่ เป็นพื้นที่ต้องเวนคืนราว 850 ไร่ โดยมีกำหนดส่งมอบหลังออก พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดิน ภายใน 2 ปี คาดว่าจะออกพระราชกฤษฎีกาได้ภายใน ส.ค.นี้ และพื้นที่ที่มีพร้อมส่งมอบหลังลงนามสัญญามี 3,571 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่พร้อมส่งมอบหลังลงนามทันที หลังลงนามสัญญา 3,151 ไร่ พื้นที่ถูกบุกรุก 210 ไร่ จำนวน 513 ราย มีกำหนดส่งมอบแล้วเสร็จภายใน 1 ปีหลังลงนามสัญญา และพื้นที่ติดสัญญาเช่าอีก 210 ไร่ จำนวน 83 สัญญา มีกำหนดส่งมอบแล้วเสร็จภายใน 2 ปีหลังลงนามสัญญา

สำหรับพื้นที่สถานีใหญ่มักกะสัน และศรีราชา ที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบสถานี รฟท. มีความพร้อมส่งมอบหลังลงนามสัญญา แบ่งเป็น สถานีมักกะสัน 142.95 ไร่ แต่สามารถส่งมอบได้ทันที 132.95 ไร่ เนื่องจากมีพื้นที่ติดปัญหาราว 9.31 ไร่ ที่เป็นพื้นที่พวงรางยังไม่สามารถส่งมอบได้ โดยรฟท. ได้สนับสนุนงบ 300 ล้านบาท ให้ฝ่ายซีพี เป็นผู้รื้อย้ายพวงราง ขณะที่สถานีศรีราชา มีความพร้อมส่งมอบ 27.45 ไร่ แต่มีเงื่อนไขให้ซีพีต้องสร้างอาคารบ้านพักพนักงาน รฟท. จำนวน 3 อาคาร ก่อนเข้าพื้นที่พัฒนาในสถานี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน