น้ำเขื่อน-แม่น้ำยังวิกฤต ลดลงต่อเนื่อง ชี้อ่างขนาดใหญ่ 19 แห่ง มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% เร่งทำฝนหลวง-สั่งสำรวจความเสียหาย

น้ำเขื่อน-แม่น้ำยังวิกฤต – นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำ มีปริมาณน้ำรวม 38,491 หรือ 47% ของความจุ แบ่งเป็น ภาคเหนือ 9,071 ล้านลบ.ม. สัดส่วน 33% ของความจุ ภาคกลาง 504 ล้านลบ.ม. สัดส่วน 19% ของความจุ ภาคอีสาน 4,212 ล้านลบ.ม. สัดส่วน 32% ของความจุ ภาคตะวันตก 18,259 ล้านลบ.ม. สัดส่วน 68% ของความจุ ภาคตะวันออก 1,118 ล้านลบ.ม. สัดส่วน 36% ของความจุ ภาคใต้ 5,326 ล้านลบ.ม. สัดส่วน 58% ของความจุ และศักยภาพน้ำบาดาล 1,228 ล้าน ลบ.ม.ต่อเดือน

ทั้งนี้ อ่างขนาดใหญ่ จำนวน 19 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งดำเนินการเติมน้ำในเขื่อนช่วยเหลือพื้นที่แห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ โดยการทำฝนหลวง ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในอ่างฯ ในพื้นที่ จ.ลพบุรี ชัยนาท อุบลราชธานี และ จ.สุรินทร์

ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำทุกภาคของประเทศ แม่น้ำสายหลักระดับน้ำอยู่ในสภาวะน้ำน้อย และคาดการณ์การไหลผ่านลดลง ได้แก่ แม่น้ำปิง อ.เมือง จ.เชียงใหม่, แม่น้ำวัง อ.เมือง จ.ลำปาง, แม่น้ำยม อ.เมือง จ.สุโขทัย, แม่น้ำน่าน อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์, แม่น้ำชี อ.เมือง จ.ชัยภูมิ, อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร, แม่น้ำมูล อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา, แม่น้ำแม่กลอง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี, ส่วนแม่น้ำโขง ตั้งแต่บริเวณ จ.เชียงราย และ จ.อุบลราชธานี และน้ำที่ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา อ.เมือง จ.นครสวรรค์, อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ปริมาณน้ำทรงตัว และน้ำไหลผ่าน จ.นครพนม มีปริมาณเพิ่มขี้น

นายสมเกียรติ กล่าวว่า การประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกพืชทั้งจากการลงพื้นที่และการตรวจสอบจากดาวเทียม, กรมชลประทานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กรมทรัพยากรน้ำ (ทน.) ประเมินสถานการณ์น้ำ วางแผนและกำหนดพื้นที่ (บนแผนที่ GIS) ที่สามารถสนับสนุนการปลูกพืชในฤดูแล้งปี 2562/63 ภายใน 31 ส.ค. 2562

กรมชลประทาน และ กฟผ. ปรับลดแผนการระบายน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ควบคุมการจัดสรรน้ำให้เป็นไปด้วยความประหยัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการใช้ในการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ และให้ ชป. วางแผนกำหนดพื้นที่ชลประทาน และพื้นที่สามารถส่งน้ำได้ ในฤดูฝน ปี 2562 ที่เหลือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน