‘อุตตม’ เตรียมเสนอครม. เคาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในเดือนนี้ ยันมีเม็ดเงินรอบรับเรียบร้อย พร้อมจี้ทุกหน่วยงานในสังกัดทำทำแผนยุทธศาสตร์เชิงปฏิบัติเพื่อเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมใน 3 เดือน

‘อุตตม’ชงครม.เคาะกระตุ้นศก. – นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมเพื่อมอบนโยบายให้กับผู้บริหารกระทรวงการคลัง ว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งประเมินโอกาสที่ดีและผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และความขัดแย้งด้านการค้าของหลายประเทศขนาดใหญ่ และยังมีเหตุการณ์ภายในที่ต้องติดตาม เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดเตรียมมาตรการกระตุ้นเชิงเศรษฐกิจให้เหมาะสม ตอบโจทย์ประชาชน เพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในเดือนส.ค. 2562

“รัฐบาลเตรียมเม็ดเงินไว้สำหรับรองรับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเรียบร้อยแล้ว แต่ยังบอกรายละเอียดไม่ได้ เพราะเร็วเกินไป รอให้มีความพร้อมมากกว่านี้ก่อน โดยการจัดทำมาตรการครั้งนี้ ไม่ใช่แค่กระทรวงการคลังเท่านั้น แต่ยังมีกระทรวงอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะออกมาเป็นแพ็กเกจ โดยในส่วนของกระทรวงการคลังจะเน้นไปที่เรื่องเศรษฐกิจ เช่น หากจำเป็นก็ต้องมีการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นการลงทุน มาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก ตรงนี้เป็นหนึ่งในแนวทาง” นายอุตตม กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้ผู้บริหารกระทรวงการคลังเร่งกำหนดภารกิจ หรือยุทธศาสตร์ของหน่วยงานในเชิงปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมที่ต้องเร่งดำเนินการภายใน 3 เดือน ให้สอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงการคลัง และนโยบายรัฐบาลที่ได้มีการนำเสนอผ่านสภา และสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย เพื่อให้สามารถดูแลและขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับภารกิจเรื่องที่แรก คือ การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ก้าวทันโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งด้านเทคโนโลยี สังคม และพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้อาจจะต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงการคลังมีหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณในการดูแลซึ่งต้องคุ้มค่า ส่วนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ได้กำชับให้เป็นการลงทุนในเชิงคุณภาพ จะบริหารโครงการอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนที่สุด และจะมีแนวทางการลงทุนอย่างไรเพื่อลดภาระงบประมาณ แต่ได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดี เช่น การเชิญเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบที่เหมาะสมทั้งทางโครงสร้างพื้นฐาน และทางดิจิตอล

“การลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศของไทยต้องปรับไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิตอลมากขึ้น ที่ผ่านมาได้ดำเนินการเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินไปแล้ว ทั้งด้านอี-คอมเมิร์ซ อี-เปย์เม้นต์ พร้อมเพย์ และได้มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขยายงานในด้านนี้เพื่อต่อยอดการเงินแบบดิจิตอล ให้กระจายผลประโยชน์ไปยังประชาชน ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ร้านโชห่วย เป็นต้น” นายอุตตม กล่าว

นายอุตตม กล่าวอีกว่า ภารกิจที่ 2 คือการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องโครงสร้างในการสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตร ผู้ประกอบการขนาดเล็ก เพื่อจัดงบประมาณดูแลได้อย่างเหมาะสม ภารกิจที่ 3 การดูแลยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านสวัสดิการต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย เพื่อให้เกิดสังคมที่เข้มแข็ง

นอกจากนี้ ได้หมีการทบทวนระบบการจัดเก็บรายได้ ว่ามีส่วนใดที่ต้องปรับปรุงอีก เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกับประชาชนกลุ่มต่างๆ และให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลในการจัดเก็บ แหล่งที่มาของรายได้ ภาษีควรให้มีการสอดรับกับสถานการณ์ด้านอี-คอมเมิร์ซ รวมถึงต้องดูว่าควรพิจาณณาปรับปรุงอย่างไรอีกบ้างเกี่ยวกับโครงสร้างภาษี พร้อมทั้งให้ทุกหน่วยงานจริงจังกับการจัดทำระบบบิ๊กดาต้า เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุดด้วยเช่นกัน โดยให้ทุกหน่วยงานไปทบทวนและกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์เชิงปฏิบัติที่จะต้องเร่งดำเนินการใน 3 เดือน

รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลอาจมีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) นั้น ยืนยันว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่มีแนวคิดดังกล่าว และไม่ใช่เรื่องที่กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ตัดสินใจทั้งหมด เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล

อย่างไรก็ดี ในส่วนการจัดทำงบประมาณสมดุลนั้น อาจจะต้องมีการทบทวนแผนการคลังในระยะกลางใหม่อีกครั้ง เพราะมีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายของประเทศใหม่ ซึ่งต้องไปดูว่าการลงทุนต่างๆ จะเกิดประโยชน์อย่างไร มีผลกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจเท่าไหร่ แต่ยืนยันว่ารัฐบาลยังมีเป้าหมายในการจัดทำงบประมาณแบบสมดุลเหมือนเดิม

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สศค. ได้รับมอบหมายให้ศึกษารายละเอียดเรื่องการปรับโครงสร้างภาษี ซึ่งต้องพิจารณาว่าหากมีการปรับโครงสร้างภาษีจะส่งผลกับฐานะการคลังอย่างไร ตรงนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ และต้องตอบโจทย์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และส่งเสริมอุตสาหกรรม อีกทั้งต้องดูเรื่องการบริหารการจัดเก็บให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน