‘ธรรมนัส’ เล็งแก้กฎหมาย ส.ป.ก. ใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว กำหนดระยะเวลาการถือครองเพื่อจำหน่าย จ่ายโอน สร้างมูลค่า-คุณค่าเท่าโฉนด จี้ต้องเสร็จใน 3-6 เดือน

‘ธรรมนัส’เล็งแก้กฎหมายส.ป.ก. – นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ลงนามในคำสั่ง มอบอำนาจหน้าที่ในการทำงานให้รมช.เกษตรฯ เพื่อมอบอำนาจ ในการสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การกำกับดูแล และการปฏิบัติราชการหรือดำเนินการอื่น ยกเว้นเรื่องที่เป็นงานนโยบาย การบริหารงานบุคคล เรื่องที่ต้องเสนอนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของส่วนราชการ

โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ กำกับดูแล กรมพัฒนาที่ดิน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.)

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ กำกับดูแล กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.)

นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ กำกับดูแล กรมปศุสัตว์ กรมการข้าว สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และองค์การสะพานปลา

ส่วนนายเฉลิมชัย จะกำกับดูแลในส่วนของ กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมหม่อนไหม กรมประมง สำนักปลัดกระทรวงเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะเรียกผู้บริหารของหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลมารับนโยบาย ประกอบด้วย กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ส.ป.ก. อ.ต.ก. และกรมพัฒนาที่ดิน ทั้งนี้ ในส่วนของส.ป.ก. นั้น ถือว่าตรงกับนโยบายของพรรค เรื่องการโฉนดทองคำ หรือ ส.ป.ก.4.0 เพื่อสร้างมูลเพิ่ม ให้เทียมเท่าโฉนดที่ดินทั่วไป

ทั้งนี้ ปัจจุบันเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. 4-01 ไม่มีมูลค่า ไม่สามารถนำไปค้ำประกันการกู้เงินจากธนาคารได้ เนื่องจากเป็นเอกสารสิทธิ์ที่ห้ามจำหน่ายจ่ายโอน ซึ่งเบื้องต้น จะต้องแก้ไขปรับปรุงกฏหมายส.ป.ก. ใหม่ โดยให้เพิ่มวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยวด้วยนอกเหนือจากที่สงวนสิทธิ์ไว้เพื่อการเกษตรเพียงอย่างเดียว รวมทั้งจะกำหนดระยะเวลาการถือครองเพื่อการจำหน่ายจ่ายโอนเอาไว้ด้วย ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ใน 3-6 เดือน เพื่อเร่งให้จบภายในการทำงานของรัฐบาลชุดนี้

การเพิ่มให้ใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวนั้น จะเปิดกว้างให้เกษตกรในพื้นที่สามารถลงทุนทำธุรกิจโฮมสเตย์ และอื่นๆ ตามมาอีกมาก ซึ่งจะทำให้มูลค่าการใช้ที่ดินเพิ่มสูงขึ้นและเป็นที่ยอมรับของธนาคารต่างๆ ใช้เป็นสินทรัพย์ค้ำประกันได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ ส.ป.ก. นี้ มีนายทุนเข้าไปครอบครองอยู่จำนวนมาก จึงจะขอดูรายละเอียดทั้งหมดอีกครั้งเพื่อหาแก้ไขต่อไป

นอกจากนี้ ในส่วนของพื้นที่ป่า ซึ่งยังไม่รู้ว่าเป็นที่ดินของการดูแลของป่าไม้ หรือส.ป.ก. เพราะในอดีตรัฐบาลสมัยนายปลอดประสพ สุสัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ ได้มีนโยบายนำคนออกจากป่าโดยรัฐบาลจัดหาที่อยู่ให้ และพื้นที่ดังกล่าวนำเสนอ คระรัฐมนตรี (ครม.) สมัยนั้นไปแล้วแต่ยังไม่มีกฏหมายประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวถูกลืม ไม่ได้มีการจัดเอกสารสิทธิ์การการอาศัยในที่ดินให้ ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นคนบุกรุก

“เบื้องต้นได้หารือกับกรมแผนที่ทหาร เพื่อนำเอกสารยืนยันการขีดเส้นแดนของแผนที่ทั่วประเทศ ที่ขณะนี้มีการทับซ้อนของแผนที่ระหว่างที่ดินของส.ป.ก. และที่ดินของกรมป่าไม้ เพราะเมื่อ ปี 2524 เคยมีการประกาศแผนที่ของกรมป่าไม้ในหลายที่ เช่น โคราช โดยในตอนนั้นมีการประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา จึงถือว่าถูกต้องมีหลักฐานยืนยัน แต่หลังจากที่นำคนออกจากป่า เพื่อจัดสรรที่ดินให้อยู่อาศัย การดำเนินการเมือ่ปี 2544 ครม. ได้อนุมัติพื้นที่ให้กับชาวบ้าน ภายใต้ที่ดิน ส.ป.ก. แต่ยังไม่มีกฏหมาย จึงต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนจากนี้”

สำหรับอ.ต.ก. นั้น ได้หารือกับสมาคมกล้วยไม้ ที่เสนอให้ใช้พื้นที่ อ.ต.ก. เป็นตลาดหล้วยไม้ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ในขณะที่อ.ต.ก. มีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เป็นพ่อค้าคนกลางในการรับสินค้าจากเกษตรกรไปจำหน่าย ทั้งตลาดในประเทศและส่งออก โดยจะทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรมีตลาดรองรับที่ชัดเจน ปัญหาราคาตกต่ำ หรือล้นตลาดก็จะหมดไป

ด้านกรมพัฒนาที่ดิน มีโครงการขุดบ่อขนมครกที่น่าสนใจและจะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้ ที่สำคัญสาร พด. ต่างๆ เป็นสิ่งที่เกษตรกรต้องการมาก เพราะช่วยในด้านพัฒนาคุณภาพดินได้โดยตรง ทำอย่างไรจะทำให้เกษตรกรเข้าถึงและเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างตรงจุด ส่วนกรมฝนหลวงและการบินเกษตรนั้น แม้จะมีปัญหาเรื่องฝูงบินไม่เพียงพอ แต่เบื้องต้นจะยังไม่ซื้อฝูงบินใหม่มาเพิ่ม โดยจะใช้วิธีขอรับการสนับสนุนจากฝ่ายทหาร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน