กนง. ผิดคาด เสียงแตก 5 ต่อ 2 ให้ลดดอกเบี้ย 0.25% ครั้งแรก 4 ปี หลังเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าคาด ส่งออกชะลอตัวหนัก เตรียมปรับคาดการณ์ใหม่ พร้อมจับตาสงครามการค้า-ออกมาตรการคุมค่าเงิน

กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% – นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 7 ส.ค. 2562 มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 1.75% ต่อปี เป็น 1.50% ต่อปี และจะมีผลทันที ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 4 ปี จากที่เคยมีการปรับขึ้นในช่วงเดือน เม.ย. 2558 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากภาคส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง ตามเศรษฐกิจคู่ค้า และปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น

ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งต่อไป จะมีการทบทวนและประกาศตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจใหม่ โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงกว่าที่คาดไว้เดิม ขณะที่การส่งออกที่เคยประมาณการไว้ว่าจะขยายตัวได้ 0% ในระยะต่อไปก็มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาด เมื่อพิจารณาจากปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบที่เริ่มชะลอตัว

“กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนกรรมการ 2 ท่านเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยในภาวะที่นโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายอยู่แล้ว อาจไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากนัก รวมทั้งยังมีความจำเป็นที่ต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต”

นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า ในภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงตามรายได้ของครัวเรือน นอกภาคเกษตรและการจ้างงานที่ปรับลดลง โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิตเพื่อส่งออก รวมทั้งยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง อย่างไรก็ดี การย้ายฐานการผลิตมายังไทยและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยสนับสนุนการลงทุนในระยะต่อไป การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ตามการลงทุนภาครัฐ

ทั้งนี้ กนง.จะติดตามความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่สูงขึ้น แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งจะติดตามการดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่และการใช้จ่ายภาครัฐ ความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

นอกจากนี้ ในด้านอัตราแลกเปลี่ยน คณะกรรมการฯ ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นในสภาวะที่การกีดกันทางการค้ารุนแรงขึ้น จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม ส่วนระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต เช่น การก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี กนง.ยังจำเป็นต้องใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ยิ่งต้องมีบทบาทมากขึ้น ในการดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน