‘มนัญญา’ สั่งระงับทุกร่างพรบ. ที่เกี่ยวข้องกับปุ๋ย สารเคมี การคุ้มครองพันธุ์พืช ลั่นต้องทบทวน วางเป้าเลิกใช้ 3 สารอันตราย ใน 1 ปี ขณะเตรียมวิจัยพันธุ์กัญชาในปีงบ 63

‘มนัญญา’ สั่งวิจัยพันธุ์กัญชา – น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการมอบนโยบายกรมวิชาการเกษตร ว่า ได้สั่งให้ระงับการพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทุกตัวที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข หรือ กำลังจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณา เกี่ยวกับ ปัญหาสารเคมี วัตถุอันตราย โดยเฉพาะสารทั้ง 3 ชนิดคือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส และพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช โดยต้องนำมาทบทวนกันใหม่ว่าทุกตัวมีอันตรายกับผู้ใช้ ผู้บริโภค อย่างไร ซึ่งการทบทวนพ.ร.บ. ในส่วนของวัตถุอันตราย นี้คาดว่าจะให้แล้วเสร็จภายในเดือนส.ค. นี้ และผู้ประกบการนำเข้าที่ใบอนุญาตหมดอายุแล้วก็จะไม่ได้รับการต่ออีก หากเป็นไปได้ การยกเลิกใช้สารเคมีต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด

“การยกเลิกจะต้องพิจารณาสต๊อกสารด้วยว่ามีเท่าไร ซึ่งสั่งให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการไปแล้ว และจะลงไปดูในพื้นที่เองด้วยเพื่อตรวจสอบความชัดเจน ในใจอยากให้เลิกใช้ตั้งแต่ จบภายในปีด้วยซ้ำ เพราะสารเคมีเมื่อตกค้างเป็นอันตรายกับห่วงโซ่มาก ลงในดินธาตุอาหารก็หาย ลงในน้ำปลาก็รับไปเมื่อนำมาบริโภค ก็จะกระทบมาถึงคนด้วย”

มนัญญา ไทยเศรษฐ์

ปัจจุบันการใช้สารเคมีในภาคการเกษตรมีเยอะมาก จำเป็นต้องลดลง และแม้จะใช้ก็ต้องมีวิธีการที่ถูกต้อง เกษตรกร ชุมชนในพื้นที่ต้องปลอดภัยจากการฉีดพ่น ที่ไม่สามารถกำหนดทิศทางได้ ในขณะที่ผู้บริโภคต้องข้อมูลตัวสินค้าผ่านการใช้สารเคมีชนิดใดมาบ้าง และมีระยะปลอดภัยที่จะนำมาบริโภคได้ การพิจารณาทั้งหมดนี้จะประสานกับกระทรวงสาธารณสุข โดยต้องขับเคลื่อนร่วมกัน ในเบื้องต้น กระทรวงสาธารณสุขยืนยันที่จะไม่ให้ใช้สารทั้ง 3 ชนิดอยู่แล้ว และเมื่อยกเลิกไปแล้วต้องมีสารชนิดอื่นมาทดแทน ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยกว่า

สำหรับนโยบายการใช้ประโยชน์จากกัญชานั้น ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรศึกษาวิจัย โดยใช้งบประมาณปี 2563 ในเบื้องต้นจะวิจัยพันธุ์ที่เหมาะสม จากปัจจุบันพันธุ์กัญชามีจำนวนมาก และหลังจากวิจัยแล้วต้องทดลองตามขั้นตอนคือในโรงเรือน ก่อนนำไปเพาะพันธุ์ขยาย และส่งเสริมให้ปลูกต่อไป การดำเนินการทั้งหมดนี้ต้องจบและเห็นผลในรัฐบาลชุดนี้

“กรมวิชาการเกษตรรายงานว่าในปี 2563 จะมีห้องแล็ปเพื่อวิจัย วิเคราะห์สายพันธุ์กัญชาโดยเฉพาะ เพื่อนำไปปลูกในโรงเรือน ที่อยู่ระหว่างการหาพื้นที่ โดยต้องดูสภาพอากาศ ที่เหมาะสม ซึ่งกรมวิชาการเกษตรมีพื้นที่เยอะแยะ คิดว่าต้องมีสักแห่งที่จะสามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้ ส่วนการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา เมล็ดละ 8,000 บาทนั้น ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงแค่ไหน แต่การนำเข้าต้องผ่านกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน