‘กนอ.’ลัดฟ้าสู่‘ฮอกไกโด’ ศึกษาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม

‘กนอ.’ลัดฟ้าสู่‘ฮอกไกโด’ – เป็นปัญหาระดับโลกไปแล้ว สำหรับปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์

หลักการในการแก้ปัญหาต่างๆ จึงเกิดขึ้นให้ได้ศึกษาและทดลองใช้

‘กนอ.’ลัดฟ้าสู่‘ฮอกไกโด’ ศึกษาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม

ฝังใต้ดินในทะเล

ตั้งแต่เรื่องง่ายๆ อย่างการแยกขยะ การลดการใช้วัสดุที่ไม่ย่อยสลาย การลดใช้พลังงานที่เป็นอันตรายต่อโลก รวมทั้งเรื่องของการรีไซเคิล นำสิ่งของกลับมาใช้ใหม่ได้มีคุณค่ามากที่สุด

แม้จะไม่มากนัก แต่การกระทำเพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นย่อมมีส่วนทำให้โลกน่าอยู่อย่างแน่นอน

สำหรับปัญหาดังกล่าว การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ที่มีหน้าที่ดูแลบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยก็ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว พร้อมให้ความสำคัญถึงขั้นพาสื่อมวลชนไปชมโรงงานอุตสาหกรรมที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการรีไซเคิล และการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรม ถึงฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น

ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ศึกษาแนวทางและนำมาปรับใช้กับนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย เพื่อให้โลกใบนี้สวยงามน่าอยู่ขึ้น

‘กนอ.’ลัดฟ้าสู่‘ฮอกไกโด’ ศึกษาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม

โรงงานซีซีเอส

โรงงานแรกที่มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมก็คือ โรงงานอิโตมูกะ ของบริษัทโนมูระ โคเซ็น จำกัด ที่เป็นบริษัทดำเนินธุรกิจให้บริการรีไซเคิลขยะที่มีสารปรอท ด้วยเทคโนโลยีที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO 14001 โดยแยกส่วนที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ไปจัดเก็บในบ่อพัก ที่เทคโนโลยีที่มีความปลอดภัย ส่วนอากาศที่ผ่านกระบวนการก็ได้รับการบำบัด จนปลอดภัยเมื่อถูกปล่อยออกมาในชั้นบรรยากาศ

ขณะที่ปรอทที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ก็นำมารีไซเคิล ส่งขายอีกครั้ง ทั้งนี้ ต่อปีโรงงานแห่งนี้รวบรวมของเสียที่มีปรอทปนเปื้อนจาก 47 จังหวัดทั่วประเทศญี่ปุ่นถึง 13,000 ตัน หลอด ฟลูออเรสเซนต์ใช้แล้ว 8,000 ตัน และของเสียที่มีปรอทอื่นๆ 6,000 ตัน

ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีขยะสารพิษปนเปื้อนปรอทจากทั่วโลก ทั้งอินโดนีเซีย รวมทั้งไทย ถูกส่งมารีไซเคิลที่นี่ด้วยเช่นกัน เพราะมีเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่สามารถดำเนินการได้อย่างปลอดภัย

‘กนอ.’ลัดฟ้าสู่‘ฮอกไกโด’ ศึกษาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม

คณะวิทยากร

แนวทางดังกล่าวถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนญี่ปุ่น จากเดิมที่เคยประสบปัญหาด้านสุขภาพจากผลข้างเคียงจากสารปรอท ลดลงไปมากทีเดียว

นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย ระบุว่า หลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียนมุ่งใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าสูงสุด โดยลดปริมาณขยะให้เหลือน้อยที่สุด และสามารถบริหารจัดการขยะมาสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในรูปแบบของวัตถุดิบเชื้อเพลิง และการนำกลับมาใช้ใหม่ใน รูปแบบหมุนเวียน

เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขณะเดียวกันการลงทุนในไทยก็ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซีที่ได้รับการโปรโมตจากภาครัฐ

จึงเป็นแรงผลักดันที่ทุกฝ่ายต้องมุ่งตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และลดผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ธุรกิจและระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต

“หลังจากได้ศึกษาดูงาน พร้อมนำมาปรับใช้ในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย แต่ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีการรีไซเคิลปรอทของไทยยังไม่ถึงขั้นที่จะดำเนินการเป็นธุรกิจได้”

‘กนอ.’ลัดฟ้าสู่‘ฮอกไกโด’ ศึกษาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม

เครื่องจักรยักษ์

นายจักรรัฐกล่าวและว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าปริมาณการใช้ปรอทในประเทศไทยไม่คุ้มค่าการลงทุน แถมยังอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการทำความเข้าใจกับประชาชนอีกด้วย

ดังนั้น ข้อดีของเทคโนโลยีเหล่านี้อาจนำมาปรับใช้เกี่ยวกับเรื่องการควบคุมขยะพิษ หรือขยะทางอุตสาหกรรม ในเรื่องการจัดส่งไปทำลาย ไม่ให้มีการลักลอบนำขยะปนเปื้อนไปทิ้ง ซึ่งอาจใช้วิธีการชั่งน้ำหนักรถเข้า-ออก และจีพีเอสจับการเคลื่อนไหว

โดยมีแนวคิดจะเริ่มที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน เป็นแห่งแรก เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเหมาะสม มีทางเข้า-ออกเพียงทางเดียว และหากประสบความสำเร็จก็จะปรับใช้กับนิคมอุตสาหกรรมในความดูแลของ กนอ.ทั้งหมด

เป็นแนวทางที่น่าสนใจ

พร้อมกันนี้ ยังมีอีกแห่งที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน คือโครงการทดสอบเทคโนโลยีดักจับและเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ของบริษัทเจแปน ซีซีเอส ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลของเกาะฮอกไกโด ซึ่งเป็นโครงการสาธิตที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น

‘กนอ.’ลัดฟ้าสู่‘ฮอกไกโด’ ศึกษาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม

อธิบายวิธีการ

โดยเป็นโครงการทดสอบที่ใช้โรงกลั่นน้ำมันของบริษัทอิเดะมิสึ โคเซ็น ดำเนินการ เริ่มในเดือนเม.ย. 2559 กรรมวิธีคือการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้ฉีดอัดไปในท่อที่ฝังลึกอยู่ในชั้นหินใต้ดิน ซึ่งเป็นชั้นหินที่เก็บกักน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่หมดศักยภาพไปแล้ว รอเวลาและเทคโนโลยีในอนาคตว่าจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์อะไรได้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือสามารถลดการแพร่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้

เทคโนโลยีซีซีเอสได้รับเลือกให้ใช้บนเกาะฮอกไกโด เพราะมีความเหมาะสมและปลอดภัยมากที่สุดในการทดลองใช้จากระบบปิด มีระบบมอนิเตอร์ติดตามแบบเรียลไทม์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดรั่วไหลออกมา

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าโครงการดังกล่าวเป็นแค่การทดลอง ซึ่งมีกรอบระยะเวลา 3 ปี และจะสิ้นสุดในเดือนต.ค. 2562 นี้ รวมทั้งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ต้นทุนสูงเมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สามารถจัดเก็บได้ ซึ่งนับว่าเป็นเพียงส่วนน้อยนิด

แต่ก็เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของเทคโนโลยีเพื่อโลกสะอาด

โรงงานดังกล่าวยังเป็นศูนย์กลางของการศึกษาดูงานที่มีตัวแทนจากทั่วโลกเข้ามาศึกษาวิทยาการแห่งอนาคต เพื่อพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก

สิ่งที่น่าสนใจและควรยึดเป็นต้นแบบในการดำเนินการ นั่นก็คือเมื่อโครงการดังกล่าวริเริ่มขึ้น แล้วเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ฮอกไกโด เมื่อปี 2561 ประชาชนต่างจับตาและตั้งข้อสงสัยว่าเป็นเพราะโครงการดังกล่าวที่มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ แผ่นโลก เป็นเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวหรือไม่

เริ่มมีการรวมตัวประท้วง และจี้ให้บริษัทยุติโครงการ

‘กนอ.’ลัดฟ้าสู่‘ฮอกไกโด’ ศึกษาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม

เริ่มกระบวนการ

สิ่งที่บริษัททำคือการเปิดข้อมูลทุกอย่างให้ชุมชนได้รับทราบ พาชมระบบมอนิเตอร์ การทำงานของระบบทุกอย่าง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ละแวกใกล้เคียง ให้เชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวไม่มีส่วนกระทบต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหว รวมทั้งการป้องกันการรั่วไหลก็ทำอย่างมีมาตรฐาน

อาทิ ติดตั้งตัวชี้วัดสภาพอากาศในชุมชน ให้ทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบและติดตาม ทำโครงการให้เด็กและเยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วม เข้าใจถึงการทำงานของเทคโนโลยีทั้งหมด

สร้างความเข้าใจด้วยการเปิดเผยข้อเท็จจริง

ถือเป็นแนวทางที่ระบบอุตสาหกรรมในประเทศไทยน่าจะนำไปเป็นต้นแบบ จากเดิมที่มีปัญหาระหว่างโรงงานและชุมชน แม้จะผ่านกระบวนการอีไอเอ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะถูกจับจ้องด้วยความสงสัยว่าเป็นไปตามกระบวนการหลักวิชาการ ไม่มีปัจจัยอื่นใดมาแทรกแซง

หากใช้ข้อเท็จจริงเป็นตัวตั้ง ปัญหาก็จะคลี่คลาย

ถือเป็นประโยชน์ของการเปิดโลกไปศึกษาดูงาน

และจะมีประโยชน์เพิ่มขึ้นหากนำมาปรับใช้ได้อย่างสมดุล

โดย ธงศึก คำพะอุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน