‘ประยุทธ์’ สั่งประชุมครม.เศรษฐกิจ 16 ส.ค. เคาะมาตรการกระตุ้นใช้จ่าย-จี้ทุกกระทรวงต้องเร่งหามาตรการสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน

‘ประยุทธ์’ สั่งประชุมครม.ศก. – นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้หารือและกำชับให้ครม.เร่งหาเพื่อพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย พิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.ศก.) ในวันที่ 16 ส.ค.นี้ ซึ่งนายกฯ จะเป็นประธานการประชุมนัดแรกที่ทำเนียบรัฐบาล โดยในที่ประชุมครม. นายกได้สั่งการให้ หน่วยงานอื่นๆ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้เตรียมความพร้อมรองรับมาตรการดังกล่าวกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงการคลังเท่านั้น

ทั้งนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้แจ้งครม. ว่าจะตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อร่วมดูแลมาตรการด้านเศรษฐกิจร่วมกัน นอกจากครม.เศรษฐกิจ อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง เพื่อมาร่วมแลกเปลี่ยนและหารือกันเพื่อแก้ไขเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกันแบบบูรณาการ โดยกำชับในที่ปรนะชุมว่า การตั้งคณะกรรมการร่วมฯ ไม่ได้ตั้งขึ้นมาควบคุมองค์กรอิสระทั้งหลาย แต่เพื่อการบูรณาการปัญหาด้านเศรษฐกิจ เพื่อวางแนวทางในการแก้ไขร่วมกันอย่างแท้จริง

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย นายกฯ กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้เกิดความชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจ ทั้งนักลงทุน และผู้บริโภคที่จะมีเชื่อมั่นในมาตรการที่จะออกมานี้ ขณะเดียวกันนายกฯ ยังได้กำชับให้ทุกกระทรวงช่วยกันดู และช่วยคิดมาตรการระยะสั้น กลาง ยาว เข้ามาร่วมกันสนับสนุน เพราะจะไม่มีการกระตุ้นมาตรการกระตุ้นเพียงระยะสั้นเท่านั้น บางส่วนต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ นายกฯ ยังฝากให้ทุกกระทรวงรับโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมฯ ไปพิจารณา นั่นคือ โมเดลบีซีจี หรือการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 มิติ ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ หรือไบโออีโคโนมี, เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือซิคูล่าอีโคโนมี และเศรษฐกิจสีเขียว หรือกรีนอีโคโนมี ซึ่งนายกฯ มองว่า โมเดลดังกล่าวจะเป็นโมเดลสำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับฐานราก และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำได้อย่างแท้จริง จึงมอบหมายให้ทุกกระทรวงนำโมเดลนี้ไปคิด เพื่อแก้ปัญหาในระยะกลางและระยะยาวต่อไป

สำหรับรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวม โดยนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้ชี้แจงให้นายกฯ รับทราบว่า ขณะนี้ตัวเลขดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างๆ มีสัญญาณชะลอตัว แต่ยังดีที่ภาคการท่องเที่ยว ยังสามารถขยายตัวได้ดี แม้ว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนลดลงไปบ้าง แต่ก็มีนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศอินเดียมาเพิ่ม จึงทำให้สถานการณ์ท่องเที่ยวโดยรวมยังพอไปได้ และไม่ได้กระทบกับรายได้จากการท่องเที่ยวมากนัก ส่วนตัวเลขอื่นๆ คงต้องรอให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงออกมาอีกครั้งในวันที่ 19 ส.ค.นี้

“การส่งออกของไทยตอนนี้ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ซึ่งรมว.คลัง ก็บอกในที่ประชุมครม.ด้วยว่า ไม่ใช่แค่ไทยที่เจอผลกระทบ แต่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคก็เจอผลกระทบเช่นกัน ทำให้การส่งออกลดลง ซึ่งในส่วนของไทยเองนั้นแม้จะลดลงแต่ก็ยังน้อยกว่าประเทศอื่น แต่ก็ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ และต้องหาทางรองรับผลกระทบเหล่านั้น เพราะขณะนี้สงครามการค้าได้ขยายไปสู่เรื่องของค่าเงินแล้ว ซึ่งไทยก็หาทางรองรับ ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือกนง. ก็ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.5% แล้ว และเมื่อลดดอกเบี้ยลงค่าเงินบาทก็อื่นค่าลงเล็กน้อย แต่ตอนนี้ค่าเงินบาทก็เริ่มกลับมาเป็นเหมือนช่วงก่อนลดอกเบี้ย นายกฯ จึงขอให้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะมีมาตรการอื่นๆ ตามออกมา”

นางนฤมล กล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังมอบหมายให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงพิจารณาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในการนำจิตอาสามาร่วมขับเคลื่อนนโยบายร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพราะบางเรื่องหากรอแต่หน่วยงานรัฐอาจจะล่าช้า แต่จิตอาสาเป็นการร่วมงานกันของทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชน ทุกส่วนสามารถทำงานคู่ขนานกันไป

นอกจากนี้ ให้ทุกจังหวัดและทุกกระทรวงไปพิจารณาตัวชี้วัดของจังหวัดที่มีอยู่ 31 ตัวชี้วัด ที่พบว่าแต่ละจังหวัดมีความเหลื่อมล้ำกันสูง ให้ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไรเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน