สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ชี้แล้งสูญแล้ว 3 พันล้าน ภาคอีสานอ่วม – พื้นที่เกษตรเสียหายสิ้นเชิง 8 แสนไร่ – รอยืนต้นตายอีกอีก 10 ล้านไร่

แล้งจัดสูญแล้ว 3 พันล้าน – น.ส.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลพื้นที่เสียหายสิ้นเชิงจากภัยพิบัติด้านการเกษตร ปี 2562 ณ วันที่ 15 สค. 2562 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สศก.ได้ประเมินปริมาณผลผลิตและมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากพื้นที่การเกษตรที่เสียหายสิ้นเชิงจากภัยแล้งในหรือเป็นมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ข้าว คาดว่าจะมีพื้นที่เสียหาย 6 แสนไร่ ปริมาณ 226,452 ตัน เสียหายมูลค่า 1,900 ล้านบาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คาดว่าจะมีพื้นที่เสียหายไร่ 1.3 แสนไร่ ปริมาณ 104,353 ตัน เสียหายมูลค่า 763 ล้านบาท

มันสำปะหลัง คาดว่าจะมีพื้นที่เสียหายไร่ 3.3 หมื่นไร่ ปริมาณ 122,909 ตัน เสียหายมูลค่า 269 ล้านบาท และ อ้อยโรงงาน คาดว่าจะมีพื้นที่ความเสียหาย 1.8 หมื่นไร่ ปริมาณ 217,778 ตัน เสียหายมูลค่า 130 ล้านบาท โดยพื้นที่เสียหายมากที่สุด 5 อันดับคือ จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา เพชรบูรณ์ เชียงราย และชัยภูมิ

ทั้งนี้ พื้นที่ทำการเกษตรทั่วประเทศ 86.74 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าว 60.03 ล้านไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 5.82 ล้านไร่ มันสำปะหลัง 9.55 ล้านไร่ และอ้อย 11.328 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 77.839 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าว 54.03 ล้านไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4.84 ล้านไร่ มันปำปะหลัง 8.72 ล้านไร่ และอ้อย 10.234 ล้านไร่ เสียหายสิ้นเชิง 7.9 แสนไร่ แบ่งเป็น ข้าว 6.03 แสนไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1.35 แสนไร่ มันสำปะหลัง 0.33 แสนไร่ และอ้อย 0.18 แสนล้านไร่

แต่ในจำนวนพื้นที่เกษตรทั้งหมดคาดว่าจะสามารถยืนต้น ไปจนกว่าเก็บเกี่ยวได้มีจำนวน 66.17 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าว 45.27 ล้านไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3.45 ล้านไร่ มันสำปะหลัง 7.87 ล้านไร่ และอ้อย 7.57 ล้านไร่ ในจำนวนพื้นที่ทั้งหมดพบว่า พื้นที่เกษตรอาจจะตายเพราะน้ำไม่พอ 10.87 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรที่อาจได้รับความเสียหาย ข้าวอาจยืนต้นตายเพราะน้ำไม่พอ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา มหาสารคาม ชัยภูมิ ขอนแก่น และ เพชรบูรณ์ แบ่งเป็น ข้าว 8.1 ล้านไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1.25 ล้านไร่ มันสำปะหลัง 0.816 ล้านไร่ และอ้อย 0.66 ล้านไร่

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ทั่วประเทศที่ยังไม่เพาะปลูกจำนวน 8.9 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าว 6.0 ล้านไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 0.98 ล้านไร่ มันสำปะหลัง 0.82 ล้านไร่ และอ้อย 1.07 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวในภาคอีสาน

น.ส.ทัศนีย์ กล่าวว่า สำหรับครึ่งแรกของปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) จีดีพีภาคเกษตรมีการขยายตัวเพียง 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ดังนั้นทั้งปีนี้ จีดีพีภาคเกษตรคงไม่เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้คือประมาณ 2.5-3.5% เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้อุณหภูมิค่าเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าค่าปกติ ปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปีที่ผ่านมา โดยผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ อาทิ ทุเรียน เงาะ และลำไย และปศุสัตว์ อาทิ ไก่เนื้อ และโคเนื้อ และผลผลิตที่ลดลง ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน สับปะรด สุกร และไข่ไก่

ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ เพิ่มขึ้น 0.73% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยสินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ สับปะรด ยางพารา ทุเรียน และปศุสัตว์ อาทิ สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ และสินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาวแวนนาไม

ขณะที่ดัชนีรายได้เกษตรกรทั้งปี 2562 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบปีก่อนหน้า เนื่องจากดัชนีผลผลิตและดัชนีราคาสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้น 1.47% และ 0.72% ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการเกษตรเพื่อปฏิรูปภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2562 เน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และการวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน