เจาะลึกมุมมอง‘นักธุรกิจไทย’ กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

หลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการ กระตุ้นศรษฐกิจวงเงิน 316,813 ล้านบาท

หลักๆ เช่น แจกเงินค่าครองชีพเพิ่มขึ้นให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสูงสุดรายละ 2,600 บาท เป็นเวลา 2 เดือน

ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับเกษตรกร ขยายเวลาชำระเงินกู้ลูกค้าธ.ก.ส. สินเชื่อฉุกเฉิน

แจกเงินท่องเที่ยว 1,000 บาท ให้คนที่มาลงทะเบียนราวๆ 10 ล้านคน และให้นำเงินท่องเที่ยวสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท มาหักลดหย่อนภาษีได้ 15% ฯลฯ

ถือว่ามีทั้งนโยบายการเงิน การคลัง โดยรัฐบาลระบุว่า ในจำนวนนี้ใช้เงินงบประมาณราว 5-6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น เพราะที่เหลือเป็นเงินกู้ หรือการเว้นเงินกู้

เมื่อมีมาตรการนี้ออกมา ภาคเอกชนจะมองทิศทางใด

รายวานพิเศษ

เริ่มที่ นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เพราะจะช่วยเพิ่มอำนาจซื้อให้ประชาชน ทำให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยเหลือคนจน ช่วยเหลือเกษตรกร ในขณะเดียวกันก็จะช่วยสร้างสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจ และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น

“มาตรการต่างๆ ที่ออกมา เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจของไทยปรับตัวดีขึ้น โดยประชาชนแต่ละกลุ่มได้รับประโยชน์แตกต่างกัน คาดว่าผู้มีรายได้น้อยจะซื้อสินค้ามากขึ้นในช่วง 2 เดือนนี้ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และคาดว่าจำนวน นักท่องเที่ยวจะมากขึ้น พร้อมการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย”

นักธุรกิจก็เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะกระตุ้นการบริโภค การลงทุน ความเชื่อมั่น ปริมาณสินเชื่อ และการสร้างสภาพคล่องของธุรกิจ

รายวานพิเศษ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการบริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมา มองว่าดีทั้งมาตรการในภาคเกษตร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร มาตรการบรรเทาค่าครองชีพด้วยปรับเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

มาตรการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพราะจะเข้าถึงกลุ่มรากหญ้า เงินที่อัดฉีดเข้าไปจะถึงเร็ว ทำให้มีการหมุนเวียนของเม็ดเงิน ส่งผลดีและช่วยเศรษฐกิจได้ทันที

“การมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบในทันที สร้างบรรยากาศโดยรวมให้ดีขึ้น เชื่อว่าจะเห็นผลต่อเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ การอัดฉีดเงินในระบบเศรษฐกิจน่าจะส่งผลต่อตัวเลขเศรษฐกิจได้ การขยายตัวของจีดีพีน่าจะบวก 3% ได้ ในขณะที่ภาคการส่งออกน่าจะเป็นบวก 4%”

รายวานพิเศษ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทำให้เงินส่งถึงมือประชาชนโดยตรง หวังว่าคนจะมีกำลังซื้อและนำเงินไปใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ไม่ใช่นำเงินไปใช้หนี้ ทำให้การอัดฉีดเม็ดเงินของรัฐบาล เกิดการหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจได้หลายรอบ

ส.อ.ท.คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ประมาณ 0.5-0.6% ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้น 3-4 เดือน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะช่วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศปีนี้ทั้งปีจะโตได้ 3% ตามที่คาดไว้

รายวานพิเศษ

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด มหาชน กล่าวว่า นโยบายการคลังที่ส่งผลให้เห็นภาพเศรษฐกิจดีขึ้นตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 นี้ นอกจากนี้ฐานการส่งออกและการท่องเที่ยวที่อยู่ ในระดับต่ำในปีก่อนน่าจะทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสนี้ดีขึ้นได้

แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีก กล่าวว่า เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ แต่คาดว่าเกิดขึ้นในระยะสั้น และทำให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในช่วงครึ่งปีหลังดีขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะการกระตุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน

รายวานพิเศษ

ส่วนภาคท่องเที่ยว นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า ครม.ได้อนุมัติการต่ออายุมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival : VoA) อัตรา 2,000 บาทต่อคน แก่นักท่องเที่ยว 19 ประเทศ (รวมจีนและอินเดีย) ขยายไปถึงวันที่ 30 เม.ย. 2563

มองว่าจะช่วยกระตุ้นภาคท่องเที่ยวไทยได้ หนุนผู้ประกอบการทำการตลาดได้ทัน โดยเมื่อใกล้จบไตรมาส 4 ของปีนี้

“หากสุดท้ายแล้วข้อสรุปของ ครม.มองว่าไม่สามารถยกเว้นวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีนและอินเดียได้ ก็อยากให้ปรับมาใช้มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ไปขอวีซ่าที่ต้นทางที่สถานกงสุลในจีนหรืออินเดียเลย ไม่ต้องมารอคิวยื่นขอวีซ่า VoA ที่สนามบินในไทยเป็นเวลานาน”

รายวานพิเศษ

นางศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่าสำหรับมาตรการรัฐที่ออกมา โดยให้เงินคนละ 1,000 บาท เพื่อเดินทางท่องเที่ยวและสนับสนุนการคืนเงิน 15% เพื่อเดินทางท่องเที่ยว ซื้อสินค้าโอท็อป กินอาหาร ถือเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามความตั้งใจของรัฐบาล

ในส่วนของโรงแรม ที่พักที่ถูกกฎหมาย ได้อานิสงส์ในมาตรการนี้ โดยเฉพาะโรงแรมในต่างจังหวัด แต่กลุ่มคนที่จะเดินทางท่องเที่ยว หรือใช้เงินให้ได้สูงสุดคือ 30,000 บาท ส่วนใหญ่คงไม่มาก เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจไม่อำนวย

รายวานพิเศษ

ขณะที่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหาร สายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล้วนเป็นเรื่องดี ไม่ว่าจะช่วยรากหญ้า เกษตรกร และการลดดอกเบี้ย เห็นด้วยอย่างยิ่งในสถานการณ์ขณะนี้ ช่วยให้เอสเอ็มอีทำธุรกิจได้คล่องขึ้น

แต่ในระยะยาวก็ต้องมาดูด้วยว่า จะทำให้เศรษฐกิจ โดยภาพรวมเติบโตได้อย่างไร เช่น การแก้ปัญหาภัยแล้ง รวมถึงมาตรการส่งเสริมการส่งออก การเร่งลงทุนโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี และการลงทุนสาธารณูปโภค ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งทำและทำให้เร็ว เพื่อผลักดันเศรษฐกิจ

รายวานพิเศษ

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่ามาตรการที่ออกมา อย่างน้อยก็ช่วยให้เศรษฐกิจดูมีความคึกคักขึ้น เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจไทยโดนผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ไม่ดี ดังนั้นการมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ถือว่าดีกว่าไม่มี แต่ทั้งนี้จะคาดหวังจากมาตรการรัฐมากก็คงไม่ได้

รายวานพิเศษ

นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูลย์ ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่าดีใจที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา เป็นการอัดฉีดในภาคการคลัง โดยที่มาตรการที่ให้จะค่อนไปทางผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร รวมถึงบรรเทาค่าครองชีพ แต่มีส่วนช่วยให้ภาคเศรษฐกิจ ในหลายภาคส่วนมีรายได้และมีเงินหมุนเวียนมากขึ้น

ส่วนภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ประโยชน์ทางอ้อมเล็กน้อย จากแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้ ผ่านมาตรการสินเชื่อใหม่ดอกเบี้ยเพื่อที่อยู่อาศัย โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) วงเงิน 27,000 ล้านบาท และออมสิน 25,000 ล้านบาท เป็นต้น

หากมองภาพรวมแล้วต้องถือว่าในแง่ของเอกชนเห็นด้วยกับมาตรการที่ออกมา แต่ที่ยังคาดหวังคือแผนระยะยาว และยั่งยืน เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะมีมาตรการอื่นๆ ตามมาอีกในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน