สศก. ปรับลด จีดีพี หลัง 2 พายุถล่มเหนือ-อีสาน แหล่งผลิตหอมมะลิ-ข้าวเหนียว ไม่สามารถปลูกซ่อมได้ทันคาดทั้งปีขยายแค่ 2% สั่งสำรวจความเสียหาย คาดชัดเจน ต.ค.นี้

หั่นจีดีพีเกษตรเซ่นน้ำท่วม-แล้ง – น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ปรับประมาณการณ์ทั้งปีของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร (จีดีพีภาคเกษตร) เหลือ 2-2.3% จากเดิมเมื่อต้นปีประมาณการณ์ไว้ที่ 3.0-3.5% และเติบโตน้อยกว่าปีก่อนที่ 4.6% จากสถานการณ์ภัยแล้ง และน้ำท่วมในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากพายุโพดุล ส่งผลให้พื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ชัดเจนโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะสำรวจความเสียหายที่ชัดเจนหลังน้ำลดรวมทั้งผลกระทบจากพายุลูกใหม่ทาจิกิ

เบื้องต้น พบว่าจะกระทบพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวในหลายจังหวัดภาคอีสานเสียหาย ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงจากก่อนหน้าที่ประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมาที่เสียหายหลายแสนไร่ แต่เชื่อว่าข้าวเพื่อการบริโภคจะไม่ขาดแคลน แต่ข้าวเพื่อการส่งออกอาจจะมีปริมาณลดลงและราคาสูงขึ้นเพราะผลผลิตน้อย ทั้งนี้ สศก. ประเมินว่า จากผลผลิตข้าวที่ลดลงทั้งจากปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม จะส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น ทั้งข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว ทำให้การปลูกข้าวฤดูกาลหน้า เกษตรกรจะปรับเปลี่ยนไปปลูกข้าวที่มีราคามากขึ้น โดยเฉพาะข้าวเหนียวที่มีราคาสูงในปีนี้

“พายุทั้ง 2 ลูกนี้ ส่งผลให้นาข้าวเหนียว หอมจังหวัด และหอมมะลิ ได้รับความเสียหาย โดยที่ไม่สามารถซ่อมหรือปลูกทดแทนได้อีก เพราะข้าวชนิดดังกล่าว ต้องอาศัยช่วงแสงในการออกรวง นอกจากนี้ยังมีพืชที่เสี่ยงจะเสียหายอีกคือ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และอ้อยโรงงาน ซึ่งได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สำรวจคาดว่าจะได้ข้อมูลที่ชัดเจนในเดือนต.ค.นี้”

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายของนาข้าวดังกล่าวจะทำให้ผลผลิตข้าวลดลง ซึ่งจะหารือในคณะกรรมการข้าวครบวงจรอีกครั้งเพื่อปรับแผนใหม่อีกครั้ง เบื้องต้นคาดว่าผลผลิตดังกล่าวจะไม่กระทบกับการบริโภคข้าวในประเทศ แต่อาจกระทบต่อการส่งออก และราคาในตลาดอาจปรับสูงขึ้น เพราะผลผลิตมีน้อยไม่สอดคล้องกับความต้องการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน