เอกชนเสนอผู้นำอาเซียนแสดงจุดยืนต่อต้านสงครามการค้า เพราะในสถานการณ์แบบนี้ไม่ส่งผลดีต่อประเทศใดๆ

จี้แสดงจุดยืนต้านสงครามค้า – เมื่อเวลา 9.30 น. วันที่ 6 ก.ย. 2562 ที่โรงแรมแชงกรี-ล่า กรุงเทพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในการเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 51 ระหว่างวันที่ 5-10 ก.ย. 2562 ว่า ประเทศไทยแสดงบทบาทอย่างเข้มแข็งในการเป็นผู้นำอาเซียนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก และทุกประเทศขออาเซียนต้องร่วมมือกันในการผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าโดยเฉพาะในช่วงที่สังคมโลกต้องเผชิญกับสงครามการค้า ทุกประเทศต้องร่วมมือกันเพื่อให้อาเซียนอยู่รอดภายใต้แนวคิดไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการเจรจาทางการค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้าให้มากขึ้น โดยมองว่าสงครามที่เกิดขึ้นมีโอกาสวิกฤตและโอกาส ซึ่งเราก็มีความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแบบองค์รวมและยั่งยืน เช่น ปัญญาประดิษฐ์ อินเตอร์เน็ต เทคโนโลยีชีวภาพ และพันธุวิศวกรรม ผ่านการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อเศรษฐกิจดิจิทัลและอุตสาหกรรมอัจฉริยะ โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผู้ประกอบการรายย่อย และองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นต้น

รวมทั้งการพยายามที่จะให้การเจรจาหุ้นส่วนเศรษฐกิจกลุ่มนี้หาข้อสรุปให้ได้มากที่สุดเพื่อจะนำไปสู่การประชุมครั้งสุดท้ายในเดือนพ.ย. 2562 และตั้งเป้าหมายว่าจะให้การเจรจานี้ เป็นที่ยุตินำไปสู่การลงนามในปีหน้า ซึ่งถ้าเป็นไปตามเป้าหมายและมีผลบังคับใช้ จะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์มากคือมีตลาดการค้าเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศที่ประชากรรวมกัน 50% ของโลกคือ 3,500 ล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก และขนาดเศรษฐกิจที่มีมูลค่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) กว่า 27.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 32.3% ของจีดีพีโลก

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ระยะเวลา 52 ปีที่ผ่านมานับจากที่อาเซียนได้ก่อตั้งขึ้น ได้ดำเนินความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาคซึ่งนำมาสู่เสถียรภาพและความมั่นคงของอาเซียน โดยตั้งเป้าว่าสมาชิกอาเซียนจะสามารถเข้าร่วมการเชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนได้ครบทั้ง 10 ประเทศภายในสิ้นปีนี้ เราส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของการค้าการลงทุนในภูมิภาค นอกจากนี้ การจัดทำแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหาร จะเป็นการนำศักยภาพของแต่ละประเทศสมาชิกมาช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับอาเซียนผ่านการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงการค้าและกระจายรายได้สู่ชุมชนมากขึ้น

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ในช่วงเวลานี้ อาเซียนต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการจากปัจจัยแวดล้อมภายนอกเช่น สงครามการค้า อาเซียนจึงจำเป็นต้องร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อรักษาความเป็นเอกภาพและความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN unity and centrality) เพื่อให้ประชาคมของเรามีความเข้มแข็งและสามารถก้าวพ้นจากความท้าทายดังกล่าว ซึ่งไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับสมาชิกอาเซียนและหุ้นส่วนต่างๆ ของอาเซียน ในการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้บรรลุเป้าหมายตามที่อาเซียนตั้งไว้ โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ส่วนข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการให้ผู้นำอาเซียนแสดงจุดยืนเรื่องการต่อต้านสงครามการค้านั้น ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้หารือร่วมกับภาคเอกชนมาโดยตลอดเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีการจัดตั้งวอร์รูมเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะ และทุกประเทศก็คงมีแนวทางในการรับมือกับสงครามการค้าอยู่แล้ว

นายอรินท ร์จิรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน กล่าวว่า ในส่วนของสภาธุรกิจอาเซียนต้องการให้ผู้นำอาเซียนแสดงจุดยืนด้วยการออกแถลงการณ์ในการต่อต้านสงครามการค้า (เทรดวอร์) โดยต้องกล้าที่จะส่งสัญญาณให้ทั้งจีนและสหรัฐยุติสงครามการค้าโดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าการลงทุนของประเทศทั่วโลก ซึ่งหากอาเซียนที่เป็นหนึ่งในตลาดขนาดใหญ่ของโลกออกมามีบทบาทในการแสดงจุดยืนเรื่องการต่อต้านสงครามการค้าก็จะทำให้ผู้นำภูมิภาคอื่นออกมาแสดงจุดยืนในทิศทางเดียวกันซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าการลงทุนทั่วโลกและหากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อออกไปก็จะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยไปเรื่อย

นายอรินทร์ กล่าวย้ำอีกว่า ในฐานะที่ประชาคมอาเซียนมีการรวมกลุ่มมาอย่างยาวนานกว่า 52 ปี เป็นภูมิภาคที่ควรแสดงความเข้มแข็งในจุดยืนที่ต้องการให้สงครามการค้ายุติ และเมื่ออาเซียนแสดงจุดยืนภูมิภาคอื่นก็จะทำตาม เพราะอย่าลืมว่าในสถานการณ์แบบนี้ไม่ส่งผลดีต่อประเทศใดๆ แม้ว่าขณะนี้จะมีบางประเทศได้ประโยชน์จากการมีเทรดวอร์แต่ในระยะยาวแล้วเชื่อว่าสหรัฐจะมีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อกีดกันการค้า เช่น ขณะนี้ประเทศเวียดนามมีผู้ประกอบการจากจีนย้ายฐานการผลิตไปเพื่อใช้เวียดนามเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐ ซึ่งในอนาคตสหรัฐอาจออกมาตรการกีดกันสินค้าที่ผลิตโดยเจ้าของที่เป็นชาวจีน เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน