ครม.ไฟเขียวคงแวต 7% อีกปีพร้อมคลอดแพ็กเกจไทยแลนด์พลัส กระตุ้นลงทุน เน้นพัฒนาบุคลากรไฮเทค รับให้สิทธิประโยชน์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ใครมีค่าใช้จ่ายปั้นคนรับยุคไฮเทคให้หักค่าใช้จ่ายได้ 2.5 เท่า

ครม.ไฟเขียวคงแวต 7% อีกปี – นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติขยายเวลาการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) โดยให้ยังคงจัดเก็บแวตในอัตรา 7% ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. 2562 ออกไปสิ้นสุด 30 ก.ย. 2563 ถือว่าเป็นไปตามคาดหมายของประชาชนที่รอรับฟัง เพราะตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แวตของประเทศไทย แม้จะกำหนดไว้ที่ 10% แต่ทุกปีก็มีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ก.) ลดเหลืออัตรา 7% ต่อเนื่องมายาวนาน

ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีข้อเสนอ ว่าในเรื่องนี้เพื่อไม่ให้มีการดำเนินการขอครม. ทุกปีก่อนสิ้นสุดปีงบประมาณ ให้ดำเนินการการแก้ไขพ.ร.ก. เป็นปลายเปิด โดยให้กระทรวงการคลังรับไปดำเนินการ เพื่อไม่ให้ต้องนำเข้ามาขออนุมัติจากครม. ทุกๆ ปี

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) กล่าวว่า มาตรการไทยแลนด์ พลัส แพ็กเกจ ที่ ครม. เศรษฐกิจพิจารณาเห็นชอบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นประกอบด้วยมาตรการ 7 ด้าน ได้แก่ ด้านสิทธิประโยชน์ ด้านกระบวนการตัดสินใจ ด้านคน ด้านความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ ด้านที่ดิน ด้านการตลาด และด้านห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งมีรายละเอียดสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ ครม.อนุมัติในครั้งนี้

ประกอบด้วย มาตรการด้านสิทธิประโยชน์ โดยเพิ่มเติมเพื่อเร่งรัดการลงทุน โดยลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี สำหรับโครงการที่มีเงินลงทุนจริงอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 โดยต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมภายในปี 2563 มาตรการด้านคน ประกอบด้วยมาตรการสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงาน โดยให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมที่เข้าข่ายเป็นแอดวานซ์เทคโนโลยี ไปกักค่าใช้จ่ายได้ 250% หรือ 2.5 เท่า

ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงการคลังมอบหมายให้กระทรวงอุดมศึกษาฯ เป็นผู้กลั่นกรองการใช้สิทธิ และให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมที่เข้าข่ายเป็นแอดวานซ์เทคโนโลยี ไปคำนวณรวมเป็นวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เป็น 2 เท่าในกรณีของโครงการลงทุนใหม่และโครงการลงทุนเดิม ที่ยังได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ มาตรการสนับสนุนการจ้างงานใหม่ที่เป็นบุคลากรทักษะสูง โดยให้ผู้ประกอบการที่จ้างงานบุคลากรกลุ่มนี้ไปหักค่าใช้จ่ายได้ 150% ระหว่างปี 2562-63, มาตรการด้านห่วงโซ่อุปทาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ จึงกำหนดมาตการการคลังโดยให้หักเงินลงุทนด้านระบบอัตโนมัติได้ 200% หรือ 2 เท่า ระหว่างปี 2562-63 โดยกระทรวงการคลังจะมอบให้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทยภายใต้สถาบันไทย-เยอรมัน เป็นผู้กลั่นกรองก่อนใช้สิทธิ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน