ชาวอุบลฯเข้าบ้านได้ 100% หลัง 9-10 ต.ค. ชี้ฝนตกเพิ่มระบายน้ำได้ช้า – ‘ประยุทธ์’ สั่งทบทวนโครงการน้ำอีสานหลังท่วมหน้าแล้ง

ชาวอุบลฯเข้าบ้านได้หลัง9-10ต.ค. – นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยอมรับการระบายน้ำออกจากจังหวัดอุบลราชธานีเป็นไปอย่างช้าๆ จากที่ประมาณการว่าน้ำจะไหลลงหมด และชาวบ้านสามารถกลับเข้าบ้านได้ในวันที่ 29 ก.ย. 2562 นั้น คงต้องขยายเวลาออกไปอีกประมาณ 9-10 วัน หรือ หรือประมาณ วันที่ 9-10 ต.ค. สถานการณ์น้ำท่วมขังจึงจะกลับเข้าสู่สภาวปกติ ชาวบ้านถึงจะสามารถกลับเข้าสู่บ้านเรือนได้เต็ม 100% เพราะขณะนี้ที่สถานีวัดน้ำ M สะพานเสรีประชาธิปไตย จ.อุบลฯ ยังมีน้ำเกินตลิ่งอยู่ประมาณ 1.5-2 เมตร (ม.)

สถานการณ์น้ำท่วมภาคอีสานต้องแยกเป็น 2 ส่วน ช่วงต้นฤดูกาลมีการประเมินถูกต้องมาตลอด ว่าอีสานแล้ง แต่ตะเข็บต้องได้รับผลกระทบจากพายุ แต่ไม่มาก แต่จุดเปลี่ยนเมื่อมีพายุคาจิกิเข้ามา ที่เคยคิดว่าจะมีระดับน้ำเพิ่มประมาณวันละ 25 เซนติเมตร (ซ.ม.) แต่เมื่อคาจิกิเข้ามา มีการแช่นานทำให้ฝนตกต่อเนื่อง ระดับน้ำสูงขึ้นวันละ 75 ซ.ม. จึงทำให้สถานการณ์แย่กว่าที่คาดส่วนเรื่องของระยะเวลาการระบายน้ำก็เช่นกันเดิมคิดว่าประมาณปลายเดือนก.ย. จะสามารถระบายน้ำได้หมด แต่เมื่อ 19-20 ก.ย. มีฝนตกมาเพิ่มส่งผลให้ต้องยืดเวลา ทำให้น้ำท่วมขังอุบลฯยาว ออกไปอีกประมาณสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนต.ค.ที่จะถึง

ทั้งนี้ จากสถานการณ์น้ำของไทย ที่มีทั้งพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมหนัก ในขณะที่บางพื้นที่ต้องประสบภัยแล้ง อย่างมาก พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการว่าสทนช. ต้องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ประเมินสถานการณ์ เพื่อปรับแผน และรูปแบบของโครงการน้ำในภาคอีสานใหม่ เพราะขณะนี้โครงสร้างต่างๆ เปลี่ยนไป เช่น คันกั้นน้ำ พนังกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ ล้วนแล้วแต่มีส่วนทำให้สถานการณ์น้ำท่วมภาคอีสานหนักกว่าที่คาด

“เมื่อโครงสร้างเปลี่ยนแปลง ก็ต้องหารือกันใหม่จะรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยในวันจันทร์ที่ 30 ก.ย.นี้ จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ โดยเอาแผนที่ประเทศไทยออกมากาง ว่าพื้นที่ไหนมีน้ำท่วม พื้นที่ไหนแล้ง ในแต่ละพื้นที่ต้องรับมืออย่างไร เรื่องของสถานการณ์น้ำเป็นเรื่องใหญ่ที่นายกฯ ให้ความสำคัญ ดังนั้นนอกจากจะประเมินความเสี่ยง ต้องมีการหารือถึงแผนรับมือ ยาวไปถึงฝนหน้า ต้องบริหารทั้งแล้ง และน้ำท่วมไปพร้อมๆ กัน”

นายสมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับปริมาณน้ำในแหล่งน้ำ มีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 53,785 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 66% แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำมีความเสี่ยงเนื่องจากเกินเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำสูงสุด 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนสิรินธร และเขื่อนแก่งกระจาน เฝ้าระวังน้ำน้อย 6 แห่ง โดยมีแนวโน้มปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 25 แห่ง แหล่งน้ำขนาดกลาง ปริมาณน้ำมีความเสี่ยงเนื่องจากเกินเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำสูงสุด 106 แห่ง มีแนวโน้มปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 30 แห่ง เฝ้าระวังน้ำน้อย 56 แห่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน