แบงก์ชาติยันเศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤต หลังลุยหั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 2.8% เหตุส่งออกสาหัส ปัญหาสงครามการค้าโลกกระทบรุนแรง

แบงก์ชาติยันศก.ยังไม่วิกฤต – นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่ธปท. ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2562 ลงเหลือ 2.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.3% ว่า เป็นผลมาจากปัญหาสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการการค้าโลกให้ชะลอตัวลง ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศไทยอย่างรุนแรง จากเดิมคาดว่าปัญหาสงครามการค้าจะคลี่คลายได้ในช่วงปลายปีนี้ แต่จากข้อมูลล่าสุดพบว่าปัญหาดังกล่าวยืดเยื้อออกไป และทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่งผล กระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ต่ำกว่าศักยภาพ โดยการปรับลดคาดการณ์จีดีพีลง ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤตแต่อย่างใด

โดยการประมาณการณ์เศรษฐกิจล่าสุดของธปท. ได้มีการนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมาพิจารณาเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งธปท. ไม่ได้มีการปรับลดคาดการณ์การบริโภคภาคเอกชนลดลงจากเดิม เพราะเชื่อว่ามาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายดังกล่าว จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศได้จริง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน และภาครัฐยังมีความล่าช้าอยู่ ทำให้ธปท. มีการปรับลดคาดการณ์การลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐลดลงเช่นกัน

“มาตรการ ชิม ช้อป ใช้ ยังต้องใช้เวลาในการประเมินว่าจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน โดยปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างดำเนินมาตรการถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะมาตรการเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก”นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวอีกว่า ในส่วนของค่าเงินบาทนั้น ธปท. มีการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยการปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจล่าสุด มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่ง โดยเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ เป็นผลมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งใน 7 เดือนแรกของปี มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 2 หมื่นล้านดอลลาร์ สะท้อนว่าการนแข็งค่าของเงินบาทไม่เกี่ยวกับการไหลเข้าของเงินทุนเพื่อมาเก็งกำไรในตลาดทุนและตลาดการเงิน เพราะที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการออกมาตรการควบคุมในส่วนดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ดี มองว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ภาครัฐและเอกชนจะเร่งลงทุน นำเข้าเครื่องจักร และวัตถุดิบ เพราะจะได้ราคาที่ถูกลง

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจเดือนส.ค. 2562 มีการชะลอตัวทุกหมวด ยกเว้นการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ โดยการส่งออกกลับมาขยายติดลบ 2.1% หากไม่รวมทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวสูงที่ 8.9% ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 จากเดือนก่อนหน้าที่กลับมาขยายตัวเป็นบวก 3.8% จากผลกระทบสงครามการค้า

ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้ากลับมาหดตัวสูงที่ 15.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมทองคำหดตัวที่ 8.0% โดยเป็นการหดตัวในทุกหมวดสินค้า ได้แก่ 1. หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง โดยเฉพาะเหล็กสอดคล้องกับการก่อสร้างภาคเอกชนและการผลิตรถยนต์ที่หดตัว ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สอดคล้องกับการผลิตและการส่งออกในหมวดดังกล่าวที่หดตัว และเชื้อเพลิงที่หดตัวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก 2. หมวดสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบินและแท่นขุดเจาะ โดยเฉพาะอุปกรณ์ด้านโทรคมนาคม และเครื่องจักรและอุปกรณ์ สอดคล้องกับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่หดตัว 3. หมวดสินค้าอุปโภคและบริโภค

ด้านการลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเครื่องชี้การลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์กลับมาหดตัวตามการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนรถยนต์เป็นสำคัญ สำหรับเครื่องชี้การลงทุนในหมวดก่อสร้างหดตัวจากทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเกือบทุกวัตถุประสงค์ที่หดตัวต่อเนื่อง ยกเว้นพื้นที่เพื่ออุตสาหกรรมที่ยังขยายตัวได้ และยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่หดตัวตาม ยอดจำหน่ายเสาเข็มคอนกรีตเป็นสำคัญ สอดคล้องกับการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์

ขณะที่ การใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัวตามรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการของกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายของกรมทางหลวง และรายจ่ายลงทุน ของรัฐวิสาหกิจที่กลับมาขยายตัวตามการเบิกจ่ายของ ทอท. และ ปตท.

สำหรับการท่องเที่ยว มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวเร่งขึ้นที่ 7.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน จาก 1. ผลของฐานต่ำจากเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต และ 2. นักท่องเที่ยวกลุ่มที่ได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม visa on arrival ขยายตัวดี โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน อินเดีย และไต้หวัน และส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากที่นักท่องเที่ยวจีนเปลี่ยนเส้นทางการท่องเที่ยวจากฮ่องกงมาไทยจากเหตุการณ์ประท้วงทางการเมือง อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวยุโรปโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวเยอรมนีและรัสเซียหดตัวต่อเนื่องตามเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

นายดอน กล่าวว่า การขยายตัวเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจากวัดจากอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก ซึ่งแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังจากแย่กว่าครึ่งปีแรก โดย ธปท. ก็อยู่ระหว่างรอลุ้นมาตรการจากผลของมาตรการ ชิม ช้อป ใช้ แต่ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 3 จะขยายตัวได้สูงกว่าไตรมาส 2 ที่ขยายตัวได้ 2.3% ซึ่งเป็นการขยายตัวจุดต่ำสุดแล้ว แต่จะได้มากแค่ไหนก็อยู่ที่ผลของมาตรการ รวมทั้งการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดี เนื่องจากฐานช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาต่ำ

“ยังมั่นใจว่าการส่งออกไตรมาส 3 จะขยายตัวได้เป็นบวก จากไตรมาสแรกที่ขยายตัวลบ 4% และไตรมาส 2 ขยายตัวลบ 4.2% ส่วนการส่งออกทั้งปีจะขยายตัวลบ 1% ตามที่ ธปท. คาดไว้หรือไม่ การส่งออกครึ่งปีหลังจะต้องขยายตัวเป็นบวกเท่านั้น”นายดอน กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน