ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดจีดีพีปี’62 เหลือ 2.8% คาด ชิม ช้อป ใช้ กระตุ้นแค่ 0.02% ประเมินเศรษฐกิจทรุดยาวถึงปีหน้าโตต่ำกว่า 3% เผชิญปัจจัยลบสงครามการค้าลากยาวฉุดส่งออกไทยติดลบ 2% เสี่ยงคนตกงานเพิ่ม

กสิกรไทยหั่นจีดีพีปี’62 – น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2562 ลงมาเหลือ 2.8% หรืออยู่ในกรอบ 2.5-3% จากเดิมประมาณการไว้ 3.1% มาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐยังยืดเยื้อ ทำให้ตัวเลขส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรกที่ผ่านมา หดตัวมากกว่าคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการการส่งออกติดลบ 1% จากเดิมที่ 0.0%

อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้จะไม่แตกต่างไปจากนี้ โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้งบประมาณ 3 แสนล้านบาทนั้นคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.3% และเฉพาะมาตรการ ชิม ช้อป ใช้ ที่ใช้งบประมาณ 10,000 ล้านบาท จะช่วยหนุนจีดีพี 0.02% เพราะเป็นมาตรการระยะสั้น และเม็ดเงินที่ใช้ไม่เยอะมาก ซึ่งต้องมองไปถึงปี 2563 ที่เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวได้ต่ำกว่า 3% เนื่องจากสถานการณ์สงครามทางการค้าลากยาว กระทบต่อการส่งออกของไทยในปีหน้ามากขึ้น ซึ่งมองว่าการส่งออกจะยังติดลบอยู่ และคาดว่าติดลบ 2%

พร้อมกันนี้การส่งออกยังกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ดังนั้นหากต้องการขยายตัวได้มากกว่าตัวเลขดังกล่าวภาครัฐต้องมีมาตรการการคลังเข้ามารองรับผลกระทบจากความเปราะบางของเศรษฐกิจ ซึ่งควรเน้นไปที่การดูแลแรงงานที่ไม่มีหลักประกันทางสังคมรองรับ เช่น กลุ่มอาชีพอิสระ รวมถึงเอสเอ็มอีที่ยอดขายชะลอตัวลง หลังผู้บริโภคระวังการใช้จ่าย หากผู้ประกอบการต้องปรับตัวทางธุรกิจโดยการชะลอรับพนักงานใหม่ และเลิกจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งภาคการผลิตและเอสเอ็มอีมีความเสี่ยงสูง ในส่วนของมาตรการทางการเงินนั้น มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง.อาจลดดอกเบี้ยได้อีก เพียงแต่มาตรการทางการเงินต้องใช้เวลากว่าจะทยอยเห็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ

นายศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงยืดเยื้อ จะกระทบการส่งออกของไทยในปีหน้าเพิ่มเติมอีก 1,000-2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังต้องรับรู้ผลกระทบจากการเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าจีนต่อเนื่อง ขณะที่ในปีนี้คาดว่าผลกระทบไว้ที่ 2,100-3,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ แม้ว่าไทยอาจได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตบ้าง แต่ก็จะเน้นไปที่ธุรกิจที่ไทยเป็นฐานการผลิตเดิม ส่วนสถานการณ์ Brexit คาดว่า มีความเป็นไปได้สูงที่สหราชอาณาจักรคงต้องออกจากสหภาพยุโรปแบบ No Deal โดยขั้นตอนต่อไปคือการตกลงกันเรื่องรูปแบบและข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัน รวมถึงประเด็นพรมแดนไอร์แลนด์เหนือซึ่งพัฒนาการเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อตลาดเงิน แม้ว่าผลกระทบของ Brexit ต่อเศรษฐกิจไทยจะมีไม่มากนัก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน