นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการความร่วมมือก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระหว่างไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 606.6 กิโลเมตร ว่า กระทรวงคมนาคมสั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปรับปรุงรายงานความเหมาะสมของโครงการรถไฟไทย-จีน เพราะเดิมจะก่อสร้างตั้งแต่เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย แต่ต่อมาได้ตัดตอนเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร วงเงิน 1.79 แสนล้านบาทมาดำเนินการก่อน ดังนั้นจึงต้องปรับประมาณการณ์จำนวนผู้โดยสารใหม่ตามความคืบหน้าของโครงการ

โดยปัจจุบัน รฟท. ได้ทบทวนรายงานการศึกษาความเหมาะสมเสร็จแล้ว จากนี้จะเสนอโครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามขั้นตอน รวมถึงจะรายงานให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับทราบด้วย

เบื้องต้นคาดว่าขั้นตอนการขออนุมัติโครงการทั้งหมดจะแล้วเสร็จ และสามารถลงนามในสัญญาได้ไม่เกินเดือนมิ.ย. โดยครั้งนี้ประเทศไทยและจีนต้องลงนาม 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 2.1 การออกแบบรายละเอียด และสัญญาที่ 2.2 ที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง

ล่าสุดการร่างสัญญาทั้ง 2 ฉบับใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว และมีรายงานในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 17 ที่เมืองคุณหมิง สาธารณประชาชนจีน เมื่อวันที่ 9-10 เม.ย. ว่า ร่างสัญญาทั้ง 2 ฉบับจะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในเดือนเม.ย. นี้

นายอาคม กล่าวต่อว่า เมื่อทั้ง 2 ประเทศลงนามสัญญาแล้วจะเปิดประมูลงานโยธาและระบบราง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร วงเงิน 1.79 แสนล้านบาทก่อน โดยจะแบ่งเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมาออกเป็น 4 ช่วง

ช่วงที่ 1 สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร จะเปิดประมูลงานโยธาและระบบรางภายในเดือน ก.ค. และคาดว่าจะได้ตัวผู้รับเหมาในเดือน ส.ค. แต่ถ้าการออกแบบรายละเอียดช่วงที่ 2 ปากช่อง-คลองขนานจิตร์ ระยะทาง 11 กิโลเมตรแล้วเสร็จ ก็จะเปิดประมูลพร้อมกัน

สำหรับช่วงที่ 3 จากแก่งคอย จ.สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 119 กิโลเมตร และช่วงที่ 4 จากกรุงเทพ-แก่งคอย จ.สระบุรี ระยะทาง 119 กิโลเมตร ฝั่งจีนระบุว่าจะส่งแบบก่อสร้างได้ไม่เกิน 6 เดือน

โดยฝ่ายไทยเน้นย้ำว่า การก่อสร้างทั้งหมดต่อเนื่องกัน และการเปิดประมูลต้องเน้นผู้รับเหมาและวัสดุจากไทยเพื่อให้ประโยชน์ตกอยู่กับประเทศ แต่ผู้รับเหมาไทยก็สามารถจับมือกับพันธมิตรจากต่างชาติเข้าร่วมประมูลได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ยังมีปัญหาเรื่องรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) เพราะช่วงกรุงเทพฯ-บ้านภาชี ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตรผ่าน EIA แล้ว แต่เส้นทางตั้งแต่บ้านภาชี-นครราชสีมายังไม่ผ่านการประเมิน เพราะยังส่งต้องข้อมูลเพิ่มเติม

“ตอนนี้การออกแบบช่วงที่ 1 เสร็จแล้ว และฝ่ายจีนกำลังส่งแบบช่วงที่ 2 มาให้ตรวจ ถ้าเสร็จทันก็จะเปิดประมูลทั้ง 2 ช่วง รวม 14.5 กิโลเมตรพร้อมกัน ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผนโครงการก็จะแล้วเสร็จภายใน 4 ปีข้างหน้า แต่ตอนนี้ต้องยอมรับว่าเส้นทางที่จะเปิดประมูล 2 ช่วงแรกยังไม่ผ่าน EIA และต้องเสนอรายงาน EIA เป็นครั้งที่ 4 ซึ่งก็ต้องขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยพิจารณาด้วย” นายอาคมกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน