‘มนัญญา’ ลั่น 1 ธ.ค. 3 สาร คลอร์ไพริฟอส-พาราควอต-ไกลโฟเซต ต้องหมดจากแผ่นดินไทย หลังยกชั้นเป็นวอ.4 ต้องห้าม – ผนึก 4 ภาคชงแบนต่อบอร์ดวัตถุอันตราย

ลั่น1ธ.ค.3สารเคมีต้องหมดจากไทย – น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาความเห็นของผู้แทน 4 ภาค ภาครัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค ต่อการยกเลิก คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต ตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2562 ที่ให้จัดการประชุมตามมติของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ประชุมมีมติ 9 ต่อ 1 เสียง เพราะ น.ส.เสาวลักษณ์ พรกุลวัฒน์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย ไม่เข้าประชุม งดออกเสียง 1 เสียง คือ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ เห็นชอบให้ยกระดับสารเคมีเกษตร 3 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 หรือ วอ.4 คือ วัตถุอันตรายห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ในวันที่ 1 ธ.ค. 2562

ส่วนขั้นตอนการดำเนินการหลังจากนี้ จะทำเรื่องเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข ภายในสัปดาห์นี้ และเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย วันที่ 27 ต.ค. 2562 ซึ่งคณะกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวเสมอว่า หากกระทรวงเกษตรฯ เห็นชอบอย่างไร คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะเห็นชอบเช่นนั้น ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะถึงนี้ กรรมการสัดส่วนของกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงสาธารณสุข จะเปิดมติให้แก่สาธารณชนรับทราบอย่างแน่นอน และยืนยันปัจจุบันมีสารทดแทนแล้ว แต่ยังเปิดเผยไม่ได้

“ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2562 จะไม่มีใครครอบครองสารเคมีนี้ และเมื่อถึงเวลานั้นคงไม่เหลือสต๊อกของ 3 สารในประเทศไทยแล้ว แต่เราไม่สามารถยกเลิกสารเคมีครั้งเดียว 100 ชนิด เพราะสารเคมีในประเทศไทยเกินกว่าที่เราจะไปกำหนดและยืนยันจะไม่หยุดเพียงเท่านี้ หากพบยังมีสารเคมีอันตรายต่อเกษตรกรและประชาชน” รมช.เกษตรฯ กล่าว และว่า นายกสมาคมอารักขาพืชไทย ไม่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ไม่มีผลทำให้น้ำหนักของมติครั้งนี้ลดลง เพราะเป็นเสียงข้างมากอยู่แล้ว”

น.ส.มนัญญา กล่าวว่า การประชุมทางสมาคมอารักขาพืช ไม่ได้ส่งตัวแทนร่วมด้วย แต่ภายหลังการประชุมทั้งหมดมีเสียงเป็นเอกฉันท์ในทิศทางเดียวกัน คือโหวตให้ยกระดับสาร 3 ชนิด และจะนำมตินี้เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน ในวันที่ 27 ต.ค.นี้

“คณะกรรมการวัตถุอันตรายพูดมาตลอดว่าจะเห็นด้วยกับกระทรวงเกษตรฯ ดังนั้น 1-2 วันนี้จะส่งข้อมูลทั้งหมดให้ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีจุดยืนชัดเจนที่จะยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด โดยเร่งรัดกรมวิชาการเกษตรให้หาสารทดแทนที่จะไม่กระทบกับเกษตรกรทั้งเรื่องของความเป็นพิษ ราคาต้นทุน และคุณภาพ”

ด้านน.ส.เสริมสุข สลักเพ็ชร อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ระบุเห็นด้วยที่จะให้มีการพิจารณาสารเคมี 3 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 เนื่องจากเป็นนโยบายของ น.ส.มนัญญา รมช.เกษตรฯ กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร ประกอบกับ นายอนุทิน รองนายกฯ ซึ่งเปรียบเป็นผู้บริหารระดับสูง ที่มีนโยบายเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การพิจารณายกเลิก ต้องมีข้อมูลทางวิชาการและข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์และมีความชัดเจน ครบถ้วน รอบด้าน ว่าสารเคมีทั้ง 3 ชนิด จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ จึงมีมติตามที่ประชุมให้ยกระดับสารเคมีเป็นประเภทที่ 4

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วันนี้ได้มีมติชัดเจน 9 ต่อ 1 เสียง ชัดเจนแล้วว่าต้องแบนทันที ตามมติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินทำหนังสือขอให้คณะรัฐมนตรี กระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณา เพื่อปรับระดับควบคุมวัตุอันตรายพาราควอต เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ให้มีผลโดยเร็ว และวันนี้ตนยิ้มออกแล้ว ทุกอย่างต้องจบตั้งนานแล้ว หลังจากนี้มั่นใจได้เลยว่า 1 ธ.ค. นี้ สารเคมีพวกนี้จะหายไปจากประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้มีมติเห็นชอบ มีดังต่อไปนี้ พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ รักษาการนายแพทย์เชี่ยวชาญ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธาณสุข, พญ.ชุลีกร ธนธิติกร นพ.ชำนาญการพิเศษ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, น.ส.สุภาวดี ทับทิม ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ สังกัดนิคมชะอำ จ.เพชรบุรี, น.ส.บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, นายอัคคพล เสนาณรงค์ ผอ.สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม, น.ส.เสริมสุข สลักเพ็ชร อธิบดีกรมวิชาการเกษตร, น.ส.วิไลวรรณ พรหมคำ ผอ.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ ประธานคณะที่ปรึกษารมช.เกษตรฯ และนายมนตรี ปาป้อง นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ กรมส่งเสริมสหกรณ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน