ปัจจัยลบรุม! สงครามการค้า-ราคาพืชเกษตรร่วง ฉุดดัชนีเชื่อมั่นเดือน ก.ย.ลดต่อเนื่อง 7 เดือน แตะ 72.2 ต่ำสุดรอบ 39 เดือน ชี้เม็ดเงินกระตุ้นลงช้าไม่เห็นผล คาดจีดีพีปีนี้ เหลือโต 2.6-2.8% ซบเซายาวถึงปีหน้า

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคร่วงหนัก – นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูน์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย. 2562 ปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 แม้รัฐบาลจะมีมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยดัชนี้ความเชื่อมั่นอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 39 เดือนนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2559 จากระดับ 73.5 มาอยู่ที่ระดับ 72.2 ซึ่งการที่ดัชนี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังเห็นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งจากสภาวะดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปัจจุบัน สถานการณ์ทางการเมืองของไทย ตลอดจนสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะเรื่อง Brexit ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปีนี้ อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังมีความเสี่ยงและความผันผวนสูง ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม และความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยในอนาคตยิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ลดลงไปอีก

สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 49.1 มาอยู่ที่ระดับ 47.9 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 216 เดือนหรือ 18 ปีนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2544 เป็นต้นมา แสดงว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่ดีอย่างมากในมุมมองของผู้บริโภค ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต หรือในระยะ 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวลงเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 84.4 มาอยู่ที่ระดับ 82.9 ซึ่งยังปรับตัวอยู่ใกล้เคียงระดับ 100 ซึ่งเป็นระดับปกติ สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นในอนาคตหากไม่มีปัจจัยลบของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเข้ามาเพิ่มเติมมากไปกว่าปัจจุบัน

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ศูนย์พยากรณ์ฯ ได้ประเมินผลจากเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาขณะนี้ ว่ายังคงล่าช้าและไม่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเท่าที่ควร ทั้งเม็ดเงินจากการโอนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการชิมช้อปใช้ และการประกันรายได้ ที่เม็ดเงินยังไม่เข้าสู่ระบบเท่าที่ควร ประกอบกับสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่มีความเป็นไปได้ว่าการเจรจาจะไม่ประสบความสำเร็จ สหรัฐอาจมีการปรับขึ้นภาษีกับประเทศจีนเดือนต.ค. ถึงเดือนธ.ค. นี้ การประกาศออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรแบบไม่มีเงื่อนไข และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจมีการใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มข้นมากขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและมีผลโดยตรงกับการส่งออกของประเทศไทยอาจขยายตัวติดลบ 2-3% และจีดีพีของประเทศอาจขยายตัวต่ำกว่า 3% เหลือเพียง 2.6-2.8% และหากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่เห็นผลไตรมาส 4 ทางศูนย์พยากรณ์ฯ กังวลว่าเศรษฐกิจจะซบเซาลากยาวไปจนถึงปีหน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน