ชาวนาเฮ! รับเงินชดเชยราคาข้าวงวดแรกวันนี้ ‘จุรินทร์’ ลั่นประกันรายได้สินค้าเกษตรตลอดช่วงอายุรัฐบาล

ชาวนาเฮ! รับเงินข้าวแล้ว – นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวในการชี้แจงและมอบนโยบายโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 และเป็นประธานกดปุ่มคิกออฟ จ่ายเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ให้ชาวนาทั้งประเทศวันนี้ซึ่งเป็นผู้ปลูกข้าวรอบแรกณ องค์การบริหารส่วนตำบลหลักชัย อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีตัวแทนเกษตรกรมารับฟังได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี นนทบุรี และ นครปฐม ประมาณ 500 คน ว่า โครงการประกันรายได้ ผู้ปลูกข้าวเป็นหนึ่งในโครงการของรัฐบาลที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และตน เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งวันนี้ครบ 90 วันหลังจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในวันที่ 25 ก.ค. 2562 โดยสามารถจ่ายเงินส่วนต่างรอบแรกได้แล้ว ถือว่าเป็นโครงการที่ทำได้เร็วและทำได้จริงตามที่รัฐบาลได้แถลงไว้ และจะทำต่อไปตลอดช่วงอายุรัฐบาล รวมทั้งสินค้าที่จะประกันรายได้ต่อไป คือ มันสำปะหลัง และข้าวโพด

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

ส่วนยางพารา ได้ผ่านการเห็นชอบคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ เรียบร้อยแล้วโดยกำหนดจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรในวันที่ 1 พ.ย. 2562 เพราะต้องใช้เวลาในการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสวนยางก่อน โดยกำหนดจ่ายทุก 15 วัน รวม 6 งวด สำหรับยางแผ่นดิบราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสด 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วย 23 บาทต่อกิโลกรัม ของสวนยางที่มีอายุ 7 ปีขึ้นไป สูงสุดครัวเรือนละ 25 ไร่

“ต่อจากนี้พี่น้องชาวนาจะได้เงิน 2 กระเป๋า คือ เงินจากการขายข้าว และเงินส่วนต่างหากราคาในตลาดไม่ถึงที่ประกันรายได้ไว้ และสำหรับชาวนาที่น้ำท่วมเจอภัยพิบัติก็ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลตามสิทธิคู่กันไปด้วย โดยรับเงินส่วนต่างตามโครงการนี้ด้วยเช่นกัน ขอให้มั่นใจได้ รวมทั้งจะยังดำเนินการนโยบายสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกในกรณีที่มีผลผลิตข้าวออกมามาก เพื่อดูดซับปริมาณข้าวออกจากตลาด ซึ่งจะมีการพิจารณาเป็นกรณีไป ทั้งนี้ การประกันราคาสินค้าเกษตรของรัฐบาลชุดนี้จะไม่ทำลายกลไกตลาดตลาดเกษตรกรมีรายได้ที่เลี้ยงตนเองได้ ขณะเดียวกันราคาข้าวของไทยก็สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ไม่ทำปัญหาให้กับผู้ส่งออกข้าวหรืออุตสาหกรรมข้าวในภาพรวม”นายจุรินทร์ กล่าว

รายงานข่าวกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2562 คณะอนุกรรมการกํากับดูแลและกําหนดเกณฑ์ กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีมติเห็นชอบการกําหนดราคา เกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกร ผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ในงวดที่ 1 ซึ่งราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงข้าวเปลือกหอมมะลิ อยู่ที่ตันละ 16,723.09 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ อยู่ที่ตันละ 15,651.05 บาท ข้าวเปลือกเจ้า อยู่ที่ตันละ 7,530.36 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี อยู่ที่ตันละ 10,216.55 บาท และข้าวเปลือกเหนียว อยู่ที่ตันละ 18,926.86 บาท

ดังนั้นจึงส่งผลให้รัฐบาลต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างในข้าวเปลือก 2 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 2,469.64 บาท และ ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 783.45 บาท ส่วนชนิดที่เหลือนั้นอยู่ในเกณฑ์ราคาสูงเลยเพดานของราคาประกัน ทั้งนี้ การจ่ายเงินชดเชยงวดแรก ธ.ก.ส. จะโอนเงินชดเชยเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ซึ่งเกษตรกรจะสามารถเบิกถอนเงินได้ทันทีภายในวันที่ 15 ต.ค. 2562 ซึ่งในงวดแรก มีเกษตรกรได้รับเงินชดเชยจากข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมปทุมธานี จํานวน ประมาณ 349,000 ครัวเรือน วงเงินชดเชยประมาณ 9,400 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 14.30 น. วันนี้ได้เปิดตัวการจ่ายเงินเกษตรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 โดยตัวแทนชาวนาได้ทำการตรวจสอบยอดเงินที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเข้าบัญชี รวมทั้งกดเงินที่ได้รับเพื่อพิสูจน์ว่าได้รับเงินจากโครงการดังกล่าวตรงเวลาจริง

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าว ในการชี้แจงโครงการประกันรายได้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562/63 รอบที่ 1 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหลักชัย อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีตัวแทนเกษตรกรมารับฟังได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี นนทบุรี และ นครปฐม ประมาณ 500 คน ว่า กำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้กำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 งวดที่ 1 ประจำวันที่ 15 ต.ค. 2562 เพื่อชดเชยส่วนต่างให้แก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสำหรับผู้ที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 16 ต.ค. 2562 แล้ว

โดยจะมีการจ่ายชดเชยรายได้ให้กับข้าวเปลือก 2 ชนิด คือ ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 2,469.64 บาท และข้าวเปลือกหอมปทุมธานีตันละ 783.45 บาท ส่วนอีก 3 ชนิด คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ และข้าวเปลือกเหนียว ไม่ชดเชย เพราะราคาข้าวทั้ง 3 ชนิดดีกว่าราคาประกัน โดยในรอบแรกรัฐบาลจะใช้งบประมาณ 9,400 ล้านบาท จ่ายให้เกษตรกรจำนวน 3.45 แสนครัวเรือน โดยย้ำว่าเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรจะมีสิทธิรับเงินชดเชยส่วนต่าง โดยไม่มีข้อจำกัดด้านการถือครองเอกสารสิทธิที่ดิน ซึ่งในแต่ละรอบเงินชดเชยจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับราคาตลาดในขณะนั้น

สำหรับราคาตลาดอ้างอิงที่นำมาใช้ในการคำนวณเพื่อจ่ายส่วนต่างประกันรายได้ ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 16,723 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 15,651 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 7,530 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 10,216 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 18,926 บาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน