ความเชื่อมั่นหอการค้าร่วงติดต่อ 7 เดือน ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน ลุ้นเดือนพ.ย.ท่องเที่ยวเข้าช่วงไฮชีซั่น ชี้ทุกภาคคึกคักแห่ ชิม ช้อป ใช้

ความเชื่อมั่นหอการค้าร่วง – นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยประจำเดือนก.ย. 2562 อยู่ที่ระดับ 46.2 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 นับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2562 และต่ำสุดในรอบ 21 เดือนที่ได้มีการสำรวจมา เนื่องจากสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศยังกังวลผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน, ปัญหาเบร็กซิต, ความขัดแย้งประเทศคู่ค้าสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกของไทย รวมถึงปัญหาฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 เกินมาตรฐาน ในภาคใต้ กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นต้น ดังนั้น คาดว่าในเดือนพ.ย. 2562 คงต้องติดตามสถานการณ์อีกครั้งว่าความเชื่อมั่นจะกลับมาฟื้นตัวหรือไม่ ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือการท่องเที่ยวที่เป็นช่วงไฮซีซั่น หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยอาจได้รับข่าวดี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการลดลงจากปัญหาต่างๆ แต่ก็มีปัจจัยบวกที่สมาชิกหอการค้ามองว่าช่วยเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “ชิม ช้อป ใช้” ได้รับการตอบสนองอย่างมากจากภาคประชาชนทุกภูมิภาค ซึ่งจะทำให้เกิดการหมุนเวียนการใช้จ่ายของภาครัฐบาลและภาคประชาชนเพิ่มมากขึ้น, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.50% ต่อปี และเงินบาทปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จากระดับ 30.768 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2562 เป็น 30.570 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนก.ย. 2562 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้า เป็นต้น

“ตอนนี้ ชิม ช้อป ใช้ ได้รับการตอบรับที่ดีมีประชาชนไปท่องเที่ยวในหลายๆ พื้นที่เห็นในทั่วทุกภูมิภาคซึ่งทำให้เงินสะพัดได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่งคนแน่นมาก แต่คงต้องติดตามอีกครั้งว่าเงินจะหมุนกี่รอบ หากเงินลงไปสู่ท้องถิ่นมากๆ ก็จะเป็นเรื่องที่ดี อย่างไรก็ตาม เอกชนมองว่าเป็นมาตรการระยะสั้นเท่านั้น”

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ภาคเอกชนได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาถึงภาครัฐ เช่น เร่งยกระดับสินค้าเกษตรให้เพิ่มสูงขึ้น และรักษาเสถียรภาพของระดับราคาพืชผลทางการเกษตรให้อยู่ในระดับสูง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น, ขอให้รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนที่ได้อนุมัติไปแล้ว, มีแผนเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร และอุปโภคบริโภคอย่างพอเพียง, เร่งพัฒนาศักยภาพการผลิต และแปรรูปสินค้าเกษตร หรือสินค้าจากชุมชนให้มีมูลค่า เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนได้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น และเร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม และโลจิสติกส์ให้สามารถเชื่อมต่อกันได้ทุกภูมิภาค

สำหรับดัชนีรายภาคพบว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เดือนก.ย. 2562 อยู่ที่ระดับ 47.2 ปัจจัยลบที่สำคัญ เช่นสถานการณ์ค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐานซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพ, รายได้ของประชาชนไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง, การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนชะลอตัว ส่วนปัจจัยบวก คือการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าใช้สิทธิตามมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล, ภาคกลาง อยู่ระดับ 45.9, ดัชนีภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 50.6 ซึ่งสูงกว่าภูมิภาคอื่น แต่ก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจมีสัญญาณชะลอตัวและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเริ่มได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอ

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 45.2 จากปัจจัยลบเรื่องเหตุอุทกภัยจากพายุโพดุล และคาจิกิ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน, ผู้ประกอบการคาดว่าการส่งออกยังไม่ฟื้นตัวจากผลของสงครามการค้า, พืชผลทางการเกษตรเสียหายจากน้ำท่วมและภาระหนี้สินครัวเรือน, ดัชนีความเชื่อมั่นภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 46.3 และดัชนีความเชื่อมั่นภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 43.5 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในทุกภูมิภาค มีปัจจัยจากค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เกินมาตรฐานกระทบต่อสุขภาพประชาชน การค้าการชายแดนไทย-มาเลเซีย มีมูลค่าลดลง ความกังวลต่อสงครามการค้าที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นและการจับจ่ายใช้สอยที่ยังชะลอตัว เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน