กรมชลฯ ย้ำแล้งนี้ลุ่มเจ้าพระยา น้ำไม่มีให้ทำนา วอนประชาชนต้องช่วยกันประหยัด – พอแค่เฉพาะการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และไม้ผลไม้ยืนต้นเท่านั้น

ลุ่มเจ้าพระยาน้ำไม่มีให้ทำนา – นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่างๆ หลายแห่งอยู่ในเกณฑ์น้อย บางแห่งสามารถสนับสนุนน้ำได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น จึงสั่งการผ่านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการจัดทำแผนการจัดสรรน้ำ การจัดหาแหล่งน้ำสำรอง และการวางแผนการเพาะ ปลูกพืชฤดูแล้งให้เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำต้นทุนที่มีอยู่ พร้อมเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนให้มากที่สุด

ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 กรมชลประทาน ได้กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลักที่มีอยู่ขณะนี้ เพียงพอที่จะสนับสนุนเฉพาะการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และไม้ผลไม้ยืนต้นเท่านั้น จึงต้องวางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้อย่างรัดกุม และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้ปฏิบัติตามแผนฯอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอไม่ขาดแคลน

ส่วนอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อย แต่ยังพอที่จะสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย (พืชไร่-พืชผักและพืชอื่นๆ) ได้แก่ เขื่อนแม่กวง จ.เชียงใหม่ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี เขื่อนสียัด จ.ฉะเชิงเทรา และเขื่อนประแสร์ จ.ระยอง ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน

สำหรับแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/63 ทั้งประเทศได้กำหนดพื้นที่เพาะปลูกไว้ทั้งสิ้น 7.21 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าวนาปรัง (นารอบที่ 2) 4.54 ล้านไร่ และพืชไร่พืชผัก 2.67 ล้านไร่ โดยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในเขตชลประทานไม่ส่งเสริมการเพาะปลูกพืช เนื่องจากน้ำต้นทุน ใน 4 เขื่อนหลัก อยู่ในเกณฑ์น้อย ต้องคงไว้สนับสนุนการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน กำหนดไว้ 1.64 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าว 1.05 ล้านไร่ และพืชไร่พืชผัก 0.59 ล้านไร่ ส่วนลุ่มน้ำแม่กลอง 1.12 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 0.86 ล้านไร่ และพืชไรพืชผัก 0.26 ล้านไร่

ทั้งนี้ เพื่อไม่เกิดผลเสียหายต่อเกษตรกร จึงขอให้เกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการในพื้นที่ พร้อมทั้งขอให้ติดตามข่าวจากทางราชการอย่างใกล้ชิด รวมทั้ง ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ หากประชาชนหรือเกษรกร มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องน้ำ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ในวันและเวลาราชการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน