คลังโยนกนง. คุมดอกเบี้ยรับมือเฟด – ส่วนแบงก์ชาติหืดจับลุ้นเศรษฐกิจไทยเข้าเป้า 2.8% หลังไตรมาส 3 วืดเป้า 2.9% จากส่งออก-บริโภคเอกชนไม่สดใส

คลังโยนกนง. คุมดอกเบี้ย – นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 1.50-1.75% ซึ่งเป็นการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ และเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน ว่า ในส่วนทิศทางของนโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทยนั้น เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะดูแลเรื่องนี้ โดยเชื่อว่า ธปท. จะมีข้อมูลที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และไทยเพื่อใช้ในการพิจารณากำหนดทิศทางนโยบายดอกเบี้ย

“เรื่องทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยให้ ธปท. เป็นผู้ดูแล โดยยืนยันว่ากระทรวงการคลังจะไม่เข้าไปก้าวก่าย หรือชี้ช่องทางให้แก่ ธปท. ว่าควรจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร” นายอุตตม กล่าว

รมว.คลัง ยังกล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการชิมช้อปใช้ ระยะที่ 3 ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการสรุปในรายละเอียดแต่อย่างใด ว่าจะมีการแจกเงิน 1,000 บาท สำหรับผู้ลงทะเบียนเพื่อร่วมมาตรการหรือไม่ โดยขอเวลา 1-2 เดือนในการประเมินความสำเร็จของมาตรการชิมช้อปใช้ ระยะที่ 1 และ 2 ก่อน เพราะมาตรการระยะที่ 2 เพิ่งเริ่มดำเนินการได้ไม่นาน จึงยังมีเวลาในการพิจารณาความเหมาะสมก่อนดำเนินมาตรการในระยะต่อไป

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า กรณีที่เฟด ปรับลดอัตราดอกเบี้ย เป็นตามไปตามคาดการณ์ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และไม่ได้เซอร์ไพร์ซตลาด โดย ธปท. ไม่ขอให้ความเห็นกรณีเงินทุนเคลื่อนย้าย เพราะใกล้ช่วงประชุม กนง. จึงกังวลว่าอาจจะเป็นการชี้นำตลาด

นายดอน กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนก.ย. 2562 ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยมูลค่าการส่งออกสินค้า -1.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 จากภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังไม่ฟื้นตัว และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่หดตัว ส่งผลให้การส่งออกยังคงหดตัวในหลายหมวดสินค้า

ส่วนกรณีที่สหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ไม่ได้มีผลมากนักต่อการส่งออกในภาพรวม โดยมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐอยู่ที่ 1.3 พันล้านเหรียญต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.5% ของมูลค่าส่งออกโดยรวม จากการวิเคราะห์ของกระทรวงพาณิชย์และธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่าหากมีการขึ้นภาษีโดยเฉลี่ย 5% จะกระทบการส่งออกไทยในปีนี้ลดลง 0.01% เท่านั้น ซึ่งเป็นสินค้าในกลุ่มอาหาร

นายดอน กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ขยายตัว -2.7% หากจะทำให้การส่งออกทั้งปีได้ตามเป้าที่คาดไว้ที่ -1% การส่งออกในไตรมาส 4 จะต้องขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 แต่จากการประเมินตัวเลขล่าสุดการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2562 มีแนวโน้มจะไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2.9% เนื่องจากการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนไม่ได้ขยายตัวตามที่คาด ส่วนจะมีผลให้เศรษฐกิจทั้งปีเป็นไปตามเป้าที่ 2.8% หรือไม่ จะต้องขอดูภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 4 อีกครั้ง

“ตามประมาณการเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2562 จะดีกว่าไตรมาส 3/2562 โดยได้อานิสงส์จากมาตรการรัฐ ทั้งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและมาตรการชิมช้อปใช้ ทำให้ในภาพรวมการท่องเที่ยวจะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง และมองว่าการส่งออกจะมีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งจากการตัดสิทธิจีเอสพี ทำให้คาดว่าแนวโน้มการส่งออกในไตรมาส 4/2562 มีโอกาสที่จะเร่งตัวขึ้นได้”นายดอน กล่าว

นายดอน กล่าวว่า สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเครื่องชี้การลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวต่อเนื่อง เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน แม้ในเดือนก.ย. ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยพยุงกำลังซื้อบางส่วน โดยการใช้จ่ายหมวดบริการและหมวดสินค้ากึ่งคงทนที่ขยายตัวสูงขึ้นช่วยชดเชยการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนที่ชะลอลง และการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนที่หดตัวมากขึ้นตามยอดขายรถยนต์ในประเทศ สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมที่แผ่วลง

ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวยังคงเป็นพระเอกของเศรษฐกิจไทยในเดือนก.ย. โดยขยายตัวเร่งขึ้นที่ 10.1% จากระยะเดียวกันปีก่อน จากฐานจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ต่ำจากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มที่ จ.ภูเก็ต มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม visa on arrival ที่มีส่วนทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีน อินเดีย และไต้หวันเพิ่มมากขึ้น และเหตุความไม่สงบในฮ่องกงที่ทำให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มเปลี่ยนเส้นทางมาไทยแทน นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวสัญชาติเอเชียอื่นที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง อาทิ นักท่องเที่ยวลาว ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 อยู่ในภาวะชะลอตัว การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำหดตัวต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศชัดเจนขึ้น โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงในเกือบทุกหมวด การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัว มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อัตราการว่างงานที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามจำนวนผู้มีงานทำที่ลดลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน