เอกชนเล็งฟ้อง กรมวิชการเกษตร ระงับนำเข้า-ส่งออก 3 สาร ชาวไร่อ้อยโวย ต้นทุนเพิ่ม

วันที่ 4 พ.ย. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาผลกระทบจากการแบน 3 สารเคมี ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซส มีผล 1 ธ.ค.2562

โดยให้ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน พิจารณาว่าหากต้องแบน 3 สาร ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด และในวันที่ 6 พ.ย.2562 ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแบนสารเคมี อาทิ เกษตรกร ผู้ประกอบการเอกชนที่นำเข้าผลผลิตด้านการเกษตร ผู้ผลิตอาหารสัตว์ เป็นต้น เข้าหารือถึงมาตรการรับมือ

“ผมไม่เคยดำเนินการในเรื่องใดๆ โดยใช้อารมณ์ ต้องพิจารณาด้วยหลักการ ผลกระทบว่า หากไม่มีสารเคมีที่เป็นสารทดแทน และใช้ได้ผล ในการจำกัดวัชพืช เมื่อมีการแบน เกษตรกรจะทำอย่างไร

ส่วนตัวผมสอบถามไปทุกสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมี ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการแบนสารไปบ้างแล้ว แต่ต้องให้ปลัดกระทรวงเกษตร ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาผลกระทบ หารือกับผู้ที่ได้รับผลกระทบและประเมินสถานการณ์ แล้วนำรายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต่อไป”

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า 3 สมาคมเกี่ยวกับการทำเกษตร ได้แก่สมาคมอารักขาพืชไทย สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร และสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ได้หารือเพื่อร่วมกันทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 6 พ.ย.นี้ เพื่อขอให้นายกฯพิจารณาปลดล็อคการระงับทะเบียน วัตถุอันตราย สารเคมี ยาฆ่าแมลง

หลังกรมวิชาการเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ของกรมวิชาการเกษตร ไม่อนุญาตให้มีการส่งออก หรือ นำเข้าสารเคมี ซึ่งทางกรมวิชาการเกษตร อ้างว่า น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯได้สั่งให้ระงับไว้

การระงับทะเบียน ไม่ใช่เพียง 3 สารที่เดือดร้อน แต่สารเคมีอื่นๆก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ ซึ่ง 3 สมาคมได้ทำหนังสือถึง รมว.เกษตรฯไปแล้ว แต่ทางรมว.เกษตรฯ ระบุไม่เคยเห็นคำสั่งนี้ ไม่ได้เป็นผู้สั่งให้ระงับ

ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่า เป็นความผิดมาตรา 157 ในเรื่องการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งเรื่องนี้ 3 สมาคมคงต้องยื่นฟ้องกรมวิชาการเกษตร ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำให้เอกชนเสียหาย

อย่างไรก็ตามเรื่องของการแบน 3 สาร เป็นที่น่าสังเกตว่าดำเนินการด้วยความรีบเร่ง แถมการทำลายสารเคมียังให้เป็นหน้าที่ของเอกชน เป็นผู้ทำลาย โดยค่าทำลายกำหนดไว้ประมาณ 100 บาท/กิโลกรัม ถือว่าสูงมาก และบริษัทที่ทำลายสารเคมีที่ได้รับอนุญาต มีเพียงบริษัทเดียวในประเทศไทย คือ บริษัท อัคคีปราการ จำกัด(มหาชน) ซึ่งต้องไปสืบกันเองว่า บริษัทนี้มีสานสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับใคร หากต้องทำลายสารเคมีใครจะได้ประโยชน์

การสั่งแบน 3 สารพร้อมกับการระงับทะเบียนสารเคมี ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถส่งออกสารเคมี ไม่สามารถระบายสต๊อกไปยัง ประเทศต้นทาง ประเทศผู้ผลิตได้ สารเคมี 20,000 ตันจะต้องถูกทำลายในไทย

นอกจากนี้ เมื่อทะเบียนสารเคมีถูกระงับ ไม่ได้เดือนร้อนแค่ ผู้ใช้ 3 สาร ยังมีผู้ประกอบการที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบเพื่อมาทำอาหารสัตว์ เคมีด้านการเกษตรไม่เพียงพอ อาทิ ใกล้ฤดูกาลปลูกข้าวโพด ยาคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนหว่าน เพื่อป้องกันศัตรูพืชไม่มี ทุกอย่างชะงักหมด ทั้งส่งออกและนำเข้า

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ด้าน นายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ กังวลว่าปี 2563 อุตสาหกรรมอ้อยจะสูญเม็ดเงินมากกว่า 3 แสนล้านบาท จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจาก เหตุแบนสารเคมีเกษตร กำลังการผลิตลด

สมาคมฯ ขอร้องรัฐบาลควรช่วยภาคเกษตรของไทย เหมือนรัฐบาลต่างชาติ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และบราซิลที่ออกมาปกป้องสิทธิ์สินค้าเกษตร และเกษตรกรของตนเอง แต่รัฐบาลไทยกลับไม่ปกป้องสินค้าเกษตรไทย เพราะ อ้อยที่ทำเงินเข้าประเทศ จำนวนมาก

สมาคมฯ ได้วิเคราะห์ตัวเลขความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะหากยกเลิกพาราควอต ซึ่งเป็นสารเคมีที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมการผลิตอ้อย เพราะเป็นสารตัวเดียวในกลุ่ม non selective ที่ไม่เป็นสารดูดซึม ปลอดภัยต่ออ้อย ระยะปลอดฝนสั้น ตรงกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย และยังไม่สามารถหาสารทดแทนได้

เกษตรกรชาวไร่อ้อยทราบดีว่า กลูโฟซิเนต และไกลโฟเซต จะใช้ฉีดลงโดยตรงในแปลงอ้อยไม่ได้ เพราะเป็นสารกึ่งดูดซึม และดูดซึม ทำให้อ้อยชะงักการเจริญเติบโตเสียหาย

การมีมติแบนพาราควอต จึงส่งผลโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ในพื้นที่กว่า 10 ล้านไร่ ทำให้เกษตรกรไร่อ้อยแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบ ผลผลิตอ้อยรวมต่อปีประมาณ 130 ล้านต้น ถ้าคิดง่าย ๆ ว่า 10 ตัน ผลผลิตหายไป 1 ตัน เท่ากับว่าผลผลิตหายแล้ว 13 ล้านตัน คิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท

ซึ่งในความเป็นจริงผลผลิตอาจหายไปมากกว่านี้ และต้นทุนเกษตรกรต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน อีกทั้งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายดิบ ขาดวัตถุดิบ ต้นทุนผลิตสูงขึ้น รวมทั้งกระทบยังส่วนอื่น ๆ อาทิ ไม่สามารถส่งกากอ้อยไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้ตามเป้าหมาย

หากเป็นเช่นนี้ ปีหน้า คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมอ้อยอาจสูงถึง 5 แสนล้านบาท และยังต้องเสียศักยภาพความเป็นผู้นำในการส่งออกน้ำตาลให้ออสเตรเลียและอินเดีย ซึ่งสองประเทศนั้นก็ยังอนุญาติให้ใช้พาราควอตในอุตสาหกรรมการผลิตอ้อยในประเทศของเขา

รัฐบาลควรมองถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศ เป็นลำดับแรก โดยเฉพาะผลกระทบกับสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดหวาน เพราะทำรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท

เช่นเดียวกับที่สหรัฐออกมาปกป้องการส่งออกถั่วเหลืองของตนเอง หลังจากรู้ว่าเราจะแบนสารเคมี ทั้งที่สหรัฐนอกจากจะใช้ไกลโฟเซต ยังใช้สารพาราควอตในถั่วเหลือง และพืชอื่น ๆ ด้วย

แต่รัฐบาลไทยนอกจากไม่ปกป้องสินค้าเกษตรไทยแล้ว ยังซ้ำเติม ทำให้ผู้ส่งออกไทยเสียโอกาสในการแข่งขันสูญเสียรายได้เข้าประเทศ ที่สำคัญไม่ปกป้องเกษตรกรไทยเหมือนที่กำลังปกป้องสินค้าเกษตรจากต่างชาติ

ดังนั้น สมาคมฯ จะนำเรียนท่านนายกรัฐมนตรี พบเอกประยุทธ จันทร์โอชา ท่านรองนายก สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ท่านต้องไม่ดูผลกระทบที่จะเกิดกับต่างชาติ และต้องไม่ห่วงใยสินค้านำเข้าเพียงอย่างเดียว จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด

เพื่อปกป้องสินค้าเกษตร และเกษตรกรไทยด้วย เพราะต่างชาติก็ยังมีการใช้ทั้งไกลโฟเซต และพาราควอต ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา บราซิล ออสเตรเลีย แคนนาดา ญี่ปุ่น และอีกกว่า 80 ประเทศ เกษตรกรจากประเทศเหล่านี้ก็ใช้สารพาราควอตเหมือนเกษตรกรไทย

เราต้องศึกษาจากเขาว่าเขาใช้อย่างไร มีวิธีการอย่างไร การจะแบนสารเคมีตัวนั้นตัวนี้ตามกระแส และแรงกดดัน โดยไม่คำนึงถึงข้อมูลความจริงทางวิชาการ และผลกระทบอย่างรอบด้านจึงไม่ควรเกิดขึ้น วันนี้เราถูกอเมริกาตัด GSP คิดเป็นมูลค่า 15,000 ล้านบาท แต่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยทำรายได้เข้าประเทศมีมูลค่าสูงถึง 300,000 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน