ตะลุยโรงงานออสเตรีย BEM พาดูรถไฟฟ้าใหม่ สุดทึ่งเทคโนโลยีทันสมัย

BEM / รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีถือเป็นอีกหัวใจสำคัญในการเดินทางจากพื้นที่ชานเมืองเข้าสู่พื้นที่ชั้นในของกทม. และยังถือเป็นอีกการคมนาคมสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้า

ดังนั้นการขยายเส้นทางการเดินรถไฟฟ้าจากพื้นที่รอบนอกเข้ามาพื้นที่ชั้นใน จึงเป็นอีกความสำคัญในการให้บริการ

ด้วยเหตุนี้ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือBEM ที่ได้เข้ามาเดินรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที สายสีน้ำเงิน ช่วงส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน–ท่าพระ จึงต้องการสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการ

ทางบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นำโดยนายวิทูรย์ หทัยรัตนา รองกรรมการผู้จัดการ จึงนำคณะสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมบริษัท Siemens Mobility Austria GmbH ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นโรงงานประกอบรถไฟฟ้าขบวนใหม่ของโครงการรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย

โดยคณะผู้บริหารของซีเมนส์ได้บรรยายภาพรวมของโรงงานและพาเยี่ยมชมการนำเสนอด้วยเทคโนโลยีการจำลองรถไฟเสมือนจริงอันทันสมัย เพื่อให้เห็นการทำงานที่ซับซ้อนของชิ้นส่วนประกอบต่างๆ ของรถไฟฟ้า และดูกระบวนการประกอบรถไฟฟ้าในโรงงาน

นอกจากนั้นยังได้เข้าเยี่ยมชม World Competence Center Bogies (Siemens Mobility Graz) เป็นโรงงานผลิตโบกี้หรือแคร่ล้อ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนขบวนรถและรองรับน้ำหนักตู้โดยสารด้วย

ส่วนวัตถุประสงค์ของการพาเยี่ยมชมโรงงานประกอบรถไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีอันทันสมัยระดับโลกของบริษัทซีเมนส์ในครั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานสากลของรถไฟฟ้าที่BEM เลือกใช้ และแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน–ท่าพระ ซึ่งจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการภายในเดือนมี.ค.2563

โดยนายวิทูรย์ หทัยรัตนา รัตนา รองกรรมการผู้จัดการสายปฏิบัติการระบบราง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือBEM เผยถึงการเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานรถไฟฟ้าของบริษัท Siemens Mobility Austria GmbH ณ กรุงเวียนนา ว่า

การเดินทางมาดูโรงงานรถไฟฟ้าของบริษัท Siemens Mobility Austria GmbH เพื่อต้องการให้เห็นถึงความพร้อม เพราะการผลิตรถไฟฟ้าถือเป็นหัวใจหลักในการเดินรถ จึงต้องการให้เห็นภาพและความเชื่อมั่นในคุณภาพของรถไฟฟ้าที่เราใช้งาน

รวมทั้งต้องการให้เห็นถึงความพร้อมก่อนเปิดให้บริการประชาชนอย่างเต็มรูปแบบในเดือนมี.ค.2563 ดังนั้นการเดินทางมาดูงานภายในโรงงานรถไฟฟ้า จึงเป็นการเพิ่มความมั่นใจและทำให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งอุปกรณ์และการทำงานในการทำรถไฟ ทุกขั้นตอนต้องใช้บุคลากรจำนวนมาก

ที่สำคัญต้องใช้การจัดการที่ดี โดย BEM ใช้บริการของซีเมนส์มาตั้งแต่รถไฟฟ้าชุดแรก ซึ่ง BEM มีความมั่นใจในคุณภาพของรถไฟฟ้าของซีเมนส์ โดยตอนนี้โรงงานในออสเตรียก็ทยอยสร้างและส่งรถไฟฟ้าไปให้แล้ว ซึ่งจะครบทั้งหมดในเดือนมี.ค.2563 โดยจะทำให้มีรถไฟฟ้าขบวนใหม่ครบ 35 ขบวน รวมมีรถไฟฟ้าให้บริการในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทั้งหมด 54 ขบวน

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ตอนนี้การติดตั้งระบบทุกอย่างเสร็จและพร้อมทุกอย่างแล้ว โดยเข้าช่วงทดสอบและเริ่มวิ่งรถไฟฟ้าไปในช่วงเตาปูน-ท่าพระตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย. ซึ่งรถไฟฟ้าทุกขบวนก่อนนำมาวิ่งจริง ต้องผ่านการทดลองวิ่งมาหลายพันก.ม. ก่อนนำมาให้บริการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว

ส่วนบุคลากรทุกคนผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรและเข้าประจำตามสถานีแล้วด้วย ซึ่งใช้เจ้าหน้าที่และพนักงานจำนวนมาก โดยเพิ่มเท่าตัวจากเดิมที่มีอยู่ จาก 18 สถานี เพิ่มเป็น 37 สถานี

ส่วนอัตราค่าโดยสารของการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ยังยืนยันให้บริการในราคาเดิมคือ 16-42 บาท

สำหรับแผนการทำงานของรถไฟฟ้าจากนี้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ในแง่การทำงานเราให้ความสำคัญถึงเรื่องการให้บริการที่ดี ปลอดภัยและเชื่อถือได้กับประชาชน ที่ผ่านมา 15 ปีเราสามารถให้บริการได้ดีและดีมาก ด้วยรถไฟฟ้าที่มีจำกัด แต่ยังรักษาความปลอดภัยและคุณภาพได้ดีเช่นเดิม ตามมาด้วยความพอใจของผู้โดยสาร แม้บางครั้งอาจมีข้อชี้แนะจากผู้โดยสารบ้างก็ตาม อย่างเรื่องผู้โดยสารหนาแน่น ซึ่งเป็นเรื่องข้อจำกัดของรถไฟฟ้า เนื่องจากตอนนั้นเรายังสั่งเพิ่มไม่ได้ แต่เมื่อสั่งเพิ่มและขยายขบวนได้ ข้อกังวลเหล่านี้ก็จะหมดไป สามารถบรรเทาปัญหาเดิมที่มีอยู่ได้

BEM ยังได้ยืดเส้นทางและการให้บริการรถไฟฟ้าไปเขตชานเมืองของกทม.ด้วย โดยสามารถรับผู้โดยสารจากชานเมืองเข้ามาในเมืองได้ด้วยรถไฟฟ้าเพียงต่อเดียว จากหลักสองถึงสีลมไม่ต้องแวะหรือต่อรถที่ไหน รวมทั้งยังเข้าไปถึงย่านเยาวราชได้อีกด้วย ตอนนี้ทำให้เยาวราชคึกคักมากยิ่งขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปหมด นำมาซึ่งความเจริญยุคใหม่เข้าไปในเยาวราช

ส่วนความถี่ในการเดินรถนั้น ตอนนี้เส้นทางในการเดินรถยาวมาก ประมาณ 43 ก.ม. หากรถไฟฟ้าวิ่งทั้งเส้นจะใช้เวลาประมาณ 1 ช.ม.ครึ่ง แต่จุดที่มีผู้โดยสารให้บริการหนาแน่นจะอยู่ช่วงกลางของเส้นทางเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องมีการบริหารจัดการเรื่องการเดินรถว่า ช่วงกลางของการเส้นทางต้องมีความถี่มากยิ่งขึ้นประมาณ 3.25 นาที ส่วนช่วงด้านนอกก็ให้มีความถี่น้อยลง แต่ต้องสามารถรองรับผู้โดยสารได้และครอบคลุม

ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารในช่วงวันปกติอยู่ที่ 430,000 คน ส่วนวันหยุดเสาร์อาทิตย์ปริมาณผู้โดยสารดีขึ้นมาก พร้อมตั้งเป้าในเร็ววันนี้ ยอดผู้ใช้บริการต้องเพิ่มเป็น 500,000 คนต่อวัน

นอกจากนี้ยังเตรียมผลักดันสถานีวัดมังกร สถานีสามยอด สถานีสนามไชย และสถานีอิสรภาพ เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ โดยเรามีจุดเด่นเรื่องความสวยงามของสถานีอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นอีกจุดดึงดูดให้ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวมาใช้บริการมากยิ่งขึ้น

ที่สำคัญยังพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าให้เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวด้วย โดยภายในเดือนพ.ย.นี้ ยังเตรียมเซ็นเอ็มโอยูกับททท. เพื่อโปรโมทสถานีรถไฟฟ้าที่สวยงาม เป็นอีกจุดท่องเที่ยวสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยว

“ก่อนหน้านี้รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีหลบอยู่ใต้ดินมา 15 ปีและไม่มีใครเคยเห็น แต่ตอนนี้มีโอกาสได้เดินรถบนดิน ทุกคนก็จะได้เห็นความสวยงามและคุณภาพของรถไฟฟ้าที่มาให้บริการ พร้อมย้ำว่าการมีธุรกิจที่ดี แต่ไม่มีการคมนาคมที่ดี ก็อาจทำให้เดินไปได้ยาก แต่หากทั้ง 2 อย่างเดินไปด้วยกัน จะทำให้มีการพัฒนาและนำมาซึ่งเศรษฐกิจที่ดี เพราะทั้ง 2 อย่างจะช่วยเสริมและหนุนกัน”

ในอนาคตหากมีการเปิดประมูลเดินรถไฟฟ้า เราพร้อมเข้าประมูลทั้งหมด ซึ่งเรามีความพร้อมและอยู่ในวงการนี้มาประมาณ 20 ปีแล้ว เราเป็นผู้รับนโยบายก็พร้อมรับและดูเงื่อนไขที่ออกมาแล้วทำตาม ไม่ว่าจะเปิดประมูลเส้นทางไหนมา เราก็พร้อมทุกด้าน เพราะเราทำธุรกิจด้านนี้ แต่ก็ต้องดูเรื่องความเสี่ยงด้วย

จากการดูงานและเยี่ยมชมโรงงานสร้างรถไฟฟ้าในออสเตรีย เชื่อได้ว่าจะเป็นอีกความมั่นใจสำคัญให้ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวหันมาใช้บริการรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีทุกสายและทุกเส้นทางมากยิ่งขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน