ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. ร่วงต่ำสุดในรอบ 17 เดือน เหตุผู้ประกอบกังวลกำลังซื้อในส่วนภูมิภาคที่ยังชะลอตัว และเอสเอ็มอีประสบปัญหาด้านการเงิน

ความเชื่อมั่นภาคอุตฯร่วง – นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนต.ค. 2562 อยู่ที่ระดับ 91.2 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 92.1 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 17 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2561 เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลกำลังซื้อในส่วนภูมิภาคที่ยังชะลอตัว และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ประสบปัญหาด้านการเงิน หลังจากสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น รวมทั้งสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ยังคงยืดเยื้อ และการแข็งค่าของเงินบาทที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลง

โดยในวันที่ 27 พ.ย.นี้ ภาคเอกชนมีกำหนดการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประชุมเชิงปฏิบัติการกับกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท เนื่องจากมาตรการที่ธปท. ใช้ดูแลค่าเงินบาทอยู่ในปัจจุบันอาจไม่เพียงพอเท่าที่ควร

“เราไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ธปท. ทำใช้ไม่ได้ เพราะอยู่ในอำนาจของธปท.ทำได้อยู่แล้ว แต่เอกชนอยากบอกว่าสิ่งที่เราอยากได้อาจนอกเหนือเกินขอบเขตของธปท. เช่น การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายที่ควรพิจารณาตามความเหมาะสมของสภาพเศรษฐกิจและปัจจัยต่างๆ ภายในประเทศ รวมถึงมาตรการเปิดเสรีให้นำส่งเงินออกนอกประเทศที่ธปท. ดำเนินการอยู่ คนยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้คนรับรู้และเข้าใจมากขึ้น และอื่นๆ ที่ต้องทำเวิร์คชอปว่าจะทำอย่างไร เชื่อว่าจะช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้ในระดับหนึ่ง“

สำหรับดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 102.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 103.4 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน ปัญหาเบร็กซิส รวมทั้งการที่ไทยถูกสหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้ในปี 2563 ทำให้สินค้าส่งออกของไทยราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง

นายสุพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคเอกชนมีความเห็นเสนอให้ภาครัฐควรให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ธปท. ประกาศเรื่องปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท เร่งการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-อียู เร่งการลงทุนภาครัฐเพื่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องของภาคเอกชน ส่งผลต่อห่วงโซ่มูลค่าของเอสเอ็มอี ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อชดเชยภาคการส่งออกที่ชะลอตัวจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลก และเร่งการเจรจาขอคืนสิทธิจีเอสพีกับสหรัฐ

นอกจากนี้ ต้องการให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกันเป็นหน่วยงานหลักในการหาแนวทางดูแลเศรษฐกิจฐานราก เพราะที่ผ่านมายังไม่มีแผนออกมาชัดเจน รวมทั้งอยากให้รัฐบาลตั้งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจขึ้นมาให้ชัดเจน เช่น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพราะขณะนี้การดำเนินงานทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีภารกิจจำนวนมาก อาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเกิดความล่าช้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน