ครม.ศก.สั่งหามาตรการเพิ่มเติมเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโค้งสุดท้ายหวังประคองจีดีพีที่ตกต่ำต่อเนื่องหลายไตรมาสให้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในปี’63 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ 3%

ครม.ศก.สั่งหามาตรการกระตุ้นศก. – นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ขณะนี้ยอมรับเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว ไทยต้องเตรียมรับมือโดยการบริหารปัจจัยภายในให้เศรษฐกิจไทยโค้งสุดท้ายสามารถขับเคลื่อนได้ในระยะต่อไป

“ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ต่างๆ แล้ว ขอเวลารวบรวมประเด็นสำคัญเพื่อประเมินข้อมูลสำหรับพิจารณากรอบที่จะดำเนินการในช่วงเดือนธ.ค.นี้ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการเพิ่มเติมเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสุดท้ายของปีและจะให้มีแรงขับเคลื่อนในปีถัดไปว่าจะออกมาอย่างไร”

ทั้งนี้ หากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีนี้ ก็อาจมีโอกาสที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย ไตรมาส 4/2562 โตได้มากกว่าเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 2.8% และทั้งปีอยู่ที่ 2.6% ถ้าทำได้ตามนี้จะประคองเศรษฐกิจจากที่ตกต่ำต่อเนื่องหลายไตรมาสให้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในปี 2563 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ 3%

โดยที่ประชุมเห็นชอบแนวทางบริหารจัดการเศรษฐกิจ 5 แนวทางใน 2563 ได้แก่ 1. การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบรายงานภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2562 แล้วก็ยอมรับว่าไม่ได้ดีอย่างที่คิด แม้องค์ประกอบเศรษฐกิจไทยหลายตัวจะเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า อาทิ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐโต 0% เทียบกับไตรมาสก่อน -4.2% การลงทุนภาคเอกชนโต 2.4% จาก 2.1% การลงทุนภาครัฐโต 3.7% จาก 1.4% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 9.7 ล้านคน จาก 9 ล้านคน เป็นต้น

เบื้องต้นที่ประชุมประเมินเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้และทั้งปีคงไม่สามารถขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ดังนั้นหัวใจสำคัญจึงขึ้นอยู่กับไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะขับเคลื่อนปัจจัยต่างๆ ได้มากแค่ไหน โดยเฉพาะงบลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ได้หารือถึงอุปสรรคว่ามีจุดไหนที่ทำให้การเบิกจ่ายงบล่าช้า เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่ล่าช้า รถไฟทางคู่นครปฐม-ชุมพร โครงการทางพิเศษสายพระราม3-ดาวคะนอง รถไฟสายสีแดงอ่อน ระบบขนส่งทางรางในกรุงเทพมหานคร ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งให้ปลดล็อก

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) รายงานแผนการเบิกจ่ายงบรัฐวิสาหกิจเดือนสุดท้ายของปีนี้ตั้งเป้าหมายเบิกจ่ายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้อีก 115,552 ล้านบาท ขณะเดียวกันที่ประชุมยังให้แนวทางการกู้ยืมเงินสำหรับ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน วงเงิน 50,633 ล้านบาท ที่ควรจะกู้ยืมในรูปของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เพราะมีความคุ้มค่ามากกว่า และเพื่อบริหารการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

2. ขับเคลื่อนการส่งออกปี 2563 ให้ขยายตตัวไม่ต่ำกว่า 3% 3. สร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ปีหน้าคาดมูลค่าลงทุนกว่า 3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีนี้ 5.9% ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หามาตรการขับเคลื่อนการลงทุนจากในประเทศเพิ่มเติมนอกเหนือจากการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่ย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในไทย เพราะขณะนี้เศรษฐกิจโลกพึ่งพาไม่ได้ จึงต้องพึ่งพาการลงทุน การอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลัก

4. สนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวปีหน้าคาดอยู่ท่ 41.8 ล้านคน รายได้รวม 2.22 ล้านล้านบาท 5. การยกระดับราคาสินค้าเกษตร ดูแลกำลังแรงงาน สร้างความเข้มแข็งให้ผู้มีรายได้น้อย เอสเอ็มอี และเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงให้เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ได้หารือกับกระทรวงมหาดไทยใกล้ชิด เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดบางจุดในหลายพื้นที่ให้สามารถเบิกจ่ายตามแผน ซึ่งจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เงินอปท. มีหลายกลุ่ม บางกลุ่มเหลือ บางกลุ่มไม่มีเงินจึงเก็บไว้ใช้ในรายจ่ายประจำ เช่น เป็นค่าบุคลากร ดังนั้นการปลดล็อกเงินท้องถิ่นจึงมีข้อจำกัด เพราะมีท้องถิ่นจำนวนมากไม่มีเงินสะสะสมพอในการใช้จ่ายต่อไป มีเพียงบางอปท. ไม่กี่แห่งเท่านั้นที่เงินเหลือ อีกทั้งนายกรัฐมนตรี ยังสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้งในฤดูกาลนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน