ธปท. ย้ำไม่ทำดอกเบี้ยติดลบเข็นเศรษฐกิจ คาดค่าเงินบาทยังผัวผวนต่อเนื่อง ไม่สามารถคุมให้เป็นไปทิศทางเดียวได้ เล็งทบทวนจีดีพีอีกครั้ง ธ.ค.นี้

ธปท. ย้ำไม่ทำดอกเบี้ยติดลบ – นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงทิศทางยุทธศาสตร์ ธปท. ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2563-2565) ว่า ในระยะต่อไปอัตราแลกเปลี่ยนจะมีความผันผวนสูง และไม่สามารถคาดเดาได้ โดยยอมรับว่า ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่ามาก และไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 1.25% ถือว่าอยู่ในระดับสุดในประวัติศาสตร์ และต่ำสุดในภูมิภาค จนไทยไม่มีความสามามารถในการทำนโยบายการเงินแบบแรงๆ ได้

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% เคยใช้ในช่วง หลังเกิดวิกฤตการเงินโลก ปี 2550-2551 ซึ่งช่วงนั้นได้มีประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจาก 3% เหลือ 1.25% ซึ่งขณะนั้นถือเป็นยาแรง แต่ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของไทยที่ลดลงมาอยู่ที่ 1.25% ไม่สามารถใช้เป็นยาแรงแบบเดิมได้ เพราะอัตราดอกเบี้ยไม่สามารถปรับลดลงได้มากกว่านี้ รวมทั้งไม่คิดว่าไทยจะใช้ดอกเบี้ยนโยบายแบบติดลบได้ เพราะอัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว และไทยไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่จะทำนโยบายการเงินในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากจะเป็นการสร้างปัญหาด้านเสถียรภาพ ขณะที่นโยบายการคลังยังมีขีดจำกัด จากภาระการคลังที่มีมากขึ้น และกลไกราชการมีอุปสรรคในการทำงานมาก

“ข้อจำกัดเกี่ยวกับปัจจัยด้านโครงสร้างทำให้ไทยส่งผ่านนโยบายการเงิน เพื่อให้มีผลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เหมือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ดังนั้นแม้ว่าประชาชนจะมีรายได้เพิ่ม ก็คงไม่มีการบริโภคเพิ่มได้ เพราะภาระหนี้ครัวเรือนสูง”นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวอีกว่า ในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนมองว่าจะผันผวนมากขึ้น ซึ่งเอกชนต้องบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้ดี เพราะอัตราแลกเปลี่ยนสามารถกำหนดทิศทางได้ซึ่งอาจไม่จริง โดยปัจจุบันนี้เงินบาทแข็งค่า อาจจะมากที่สุดในภูมิภาคและแข็งค่าเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าสถานการณ์ต่างประเทศเปลี่ยนแปลง ค่าเงินก็ปรับทิศได้เร็ว ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดเดาได้ เพราะค่าเงินไม่ได้เปลี่ยนทิศไปทางเดียวเสมอ ดังนั้นต้องมาดูว่าจะทำอย่างไร ให้เอกชนรับมือความผันผวนของอัตราเเลกเปลี่ยนได้

“ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาตามสถานการณ์ต่างประเทศ ถือเป็นโจทย์ที่ ธปท. ต้องทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจเข้าใจเพื่อวางแผนธุรกิจเพื่อบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น”นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท ยังกล่าวถึงแนวโน้มการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ว่า ในเดือน ธ.ค. นี้ ธปท. จะมีการทบทวนแนวโน้มการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้อีกครั้ง โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเติบโตได้ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 2.8% เนื่องจากผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้า ที่ส่งผลกระทบกับทุกประเทศ รวมถึงไทยด้วย รวมถึงจีดีพีด้านการค้าโลกที่ขยายตัวได้ต่ำกว่า 3-4 ปีก่อน ได้กดดันประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตล้วนแต่ได้รับผลกระทบในส่วนนี้ ดังนั้นมองว่าไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจแบบเปิดที่ต้องพึ่งพาการส่งออก จึงหลีกเลี่ยงไมได้ที่จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนแนวโน้มตัวเลขจีดีพีในปี 2563 นั้น มองว่าจะมีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าปีนี้ โดยมาจากปัจจัยสนับสนุน อาทิ การขับเคลื่อนการลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ รวมถึงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินออกมาในช่วงต้นปี ตรงนี้จะช่วยขับเคลื่อนด้านการลงทุนของภาครัฐ รวมถึงการที่รัฐบาลได้จัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนของภาคเอกชนที่ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย เนื่องจากผลกระทบของปัญหาสงครามการค้า จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยในปีหน้า

“ปี 2563 ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ปัญหาสงครามการค้า เพราะมองว่ายังมีความไม่แน่นอนในเรื่องการเจรจาหาข้อสรุประหว่างสหรัฐและจีน ประกอบกับในปีหน้าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จึงต้องติดตามว่าจะมีมาตรการอะไรใหม่ๆ ออกมาหรือไม่ ที่จะเป็นความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก”นายวิรไท กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน