ผ่ายุทธศาสตร์3ปีแบงก์ชาติ

รับมือ‘7ความท้าทาย’เศรษฐกิจไทย

พาคณะสื่อมวลชนบินลัดฟ้าไปยังหลวงพระบาง สปป.ลาว เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงถือโอกาสนี้ บอกเล่าการทำงานในก้าวที่ผ่านมา และก้าวต่อไป ของ ธปท. ซึ่งเต็มไปด้วยความท้าทาย

ผู้ว่า ธปท. ยอมรับว่า ในแผนยุทธศาสตร์ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2560-2562) มุ่งตอบโจทย์ใน 3 ด้านคือ

ด้านเสถียรภาพ (Stability)

ด้านการพัฒนา (Development)

และด้านเสริมสร้างความเข้มแข็งภายในองค์กร (Internal Excellence)

รายงานพิเศษ

ส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปตามแผน หรือดีกว่าแผนที่วางไว้ แต่ก็ยังมีบางเรื่องที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย ที่ยังไม่เด็ดขาด

การกำกับดูแลต้องทำเพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากที่ผ่านสถาบันการเงินมาแก้ไขปัญหาจากจุดหนึ่ง ก็ไปโผล่ในอีกจุดหนึ่ง หรือการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และผู้ส่งออกสินค้ายังทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ไม่มากเท่าที่ควร

ทำให้ธปท.จะต้องเดินหน้าเต็มกำลังเพื่อสานต่อในแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี ต่อเนื่องช่วง 2563-2565

ดังนั้นโจทย์ใหญ่ช่วง 3 ปีข้างหน้า ที่โลกเปลี่ยนแปลง ธปท.ต้องเปลี่ยนให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ทั้งด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และการเมือง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งในและต่างประเทศ ที่จะเข้ามากระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆ

รายงานพิเศษ

รวมทั้งแรงงานไทยจะลดลง สังคมสูงวัยจะมีมากขึ้นในอนาคต ทำให้ต้องใช้งบประมาณในการดูแลจำนวนมาก ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ธนาคารกลาง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง” (Central Banking in a Transformative World)

หัวใจหลักของยุทธศาสตร์ คือเมื่อโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ธนาคารกลางจำเป็นต้องเท่าทันการเปลี่ยนให้ได้ จะคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว ต้องทำหน้าที่ตอบโจทย์วิสัยทัศน์ว่าเป็นองค์กรที่มองไกล มีหลักการและร่วมมือ เพื่อความเป็นอยู่ยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

นายวิรไท ระบุว่า ยุทธศาสตร์ในระยะ 3 ปี (2563-2565) จึงต้องให้ความสำคัญกับ “ความท้าทาย” ที่อาจเกิดขึ้นโดยความท้าทายและการวางรากฐานที่สำคัญขององค์กรในระยะ 3 ปี มี 7 ด้าน ประกอบด้วย

รายงานพิเศษ

ความท้าทายที่ 1 ระบบการเงินเข้าสู่โลกการเงินดิจิตอลอย่างรวดเร็ว ธปท.ต้องยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและศักยภาพของภาคธุรกิจ และสนับสนุนระบบการเงินไทยแข่งขันสร้างนวัตกรรม และมีพัฒนาการด้านการเงินดิจิตอลดีที่สุดแห่งหนึ่งในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

ความท้าทายที่ 2 กรอบและกลไกการกำกับดูแลเสถียรภาพระบบการเงินต้องเท่าทันความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมใหม่ ดูแลกฎเกณฑ์กำกับดูแลเอื้อให้ภาคธุรกิจการเงินเท่าทันโลกการเงินดิจิตอล แข่งขันเท่าเทียม และช่องโหว่ของกฎเกณฑ์ลดลง ดูแลผู้ให้บริการทางการเงินมีวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยง (risk culture) เข้มแข็ง

ความท้าทายที่ 3 นโยบายการเงินและนโยบายการคลังเผชิญขีดจำกัด โดยเฉพาะจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง วางกรอบนโยบายการเงินและการผสมผสานเครื่องมือนโยบายสามารถบรรลุเป้าหมายด้าน เศรษฐกิจมหภาคและเสถียรภาพระบบการเงิน ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของ ธปท. ได้ถูกนำไปใช้ปฏิบัติจริงเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

รายงานพิเศษ

ความท้าทายที่ 4 อัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนสูงขึ้นและภาคเอกชนต้องสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดี ดูแลระบบเศรษฐกิจและภาคเอกชนทนทานต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น ให้การไหลเข้าออกของเงินตราต่างประเทศมีความสมดุลมากขึ้น

ความท้าทายที่ 5 ภัยคุกคามทางไซเบอร์และความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีจะเป็นความเสี่ยงหลักของระบบ การเงิน วางโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของภาคการเงินมีเสถียรภาพ ให้บริการได้ต่อเนื่อง พร้อมรองรับความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและภัยไซเบอร์จากนอกภาคการเงิน สนับสนุนภาคการเงินมีบุคลากรที่เพียงพอรับมือความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและภัยไซเบอร์

ความท้าทายที่ 6 การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน (sustainability) ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนลดลง ความเปราะบางของฐานะทางการเงินของครัวเรือนได้รับการดูแล และไม่สร้างความเสี่ยงในระยะยาว และให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง ได้รับบริการเป็นธรรม และมีภาระทางการเงินลดลง

รายงานพิเศษ

ความท้าทายที่ 7 การรักษาความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางต้องเผชิญกับความ ท้าทายที่หลากหลายขึ้น ประชาชนและภาคธุรกิจเข้าใจและเชื่อมั่นบทบาทและเหตุผลการดำเนินนโยบายของ ธปท. และต้องได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลสูง เปิดกว้างรับฟัง และเข้าถึงง่าย

พร้อมทั้งการวางรากฐานสำคัญขององค์กร 3 คือ การปลดล็อกและเสริมสร้างศักยภาพพนักงานให้เป็นพลังขององค์กร และปรับวัฒนธรรมองค์กรให้มีความคล่องตัวมากขึ้น และใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเป็นเครื่องมือหลักในทุกกระบวนการทำงาน

ในด้านการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ในขณะนี้ในส่วนของนโยบายการเงิน นายวิรไทมองว่า ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันที่ระดับ 1.25% ถือว่าอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และยังต่ำสุดเมื่อเทียบกับในภูมิภาค

รายงานพิเศษ

อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำในระดับนี้ไม่มีความสามารถในการทำนโยบายการเงินแบบแรงๆ ได้ และไม่คิดว่าประเทศไทยจะมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ติดลบ

ธปท.ทำนโยบายการเงินโดยยึดหลัก ‘data dependent’ และหากแนวโน้มเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่ประเมินไว้ ก็พร้อมใช้นโยบายการเงินให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้น

การเลือกใช้นโยบายการเงินในแต่ละช่วงเวลาจะต้องชั่งน้ำหนัก ให้มีความเหมาะสม ขณะที่แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนในระยะต่อไปด้วยว่า จะมีความผันผวนมากขึ้น ภาคเอกชนควรบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าปีนี้ เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่จะช่วยให้เศรษฐกิจในปีหน้าดีขึ้น

อาทิ โครงการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐ ตลอดจนรัฐวิสาหกิจ จะสามารถขับเคลื่อนได้อย่างคล่องตัวมากกว่าปีนี้ เนื่องจากการเบิกจ่ายเงินจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จะเริ่มทยอยออกมาใช้ได้ในช่วงต้นปีหน้า

นอกจากนั้นรัฐบาลพยายามออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันมีปัจจัยหนุนจากการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ EEC ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การผลิตและการส่งออกของไทยในปีหน้า มีแนวโน้มที่น่าจะดีขึ้นกว่าปีนี้

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่จะต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ หรือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่แม้ทั้งสองฝ่ายพยายามจะให้มีการเจรจากันเกิดขึ้น แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ซึ่งปัจจัยนี้จะเป็นความเสี่ยงหลักต่อระบบเศรษฐกิจไทยและระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกในปีหน้าด้วย

ภายใต้สารพัดความท้าทายที่นอกจากหน่วยงานกำกับดูแลเศรษฐกิจหลักอย่าง ธปท. ต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ยังเป็นการส่งสัญญาณมาถึงส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนภาคประชาชนที่จะต้องเตรียมรับมือให้ดี

ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้ในทุกวินาที

โดย พรเทพ อินพรหม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน