น้อมรำลึกในหลวง ร.9 โชว์ผลงานหมอดินอาสา และความสำเร็จการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ในงานวันดินโลก 5 ธันวาคม ที่เอฟเอโอ กรุงโรม

น้อมรำลึกในหลวง ร.9 – เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2562 สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรของไทย ร่วมกับ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และรัสเซีย จัดกิจกรรมงานวันดินโลก (World Soil Day) โชว์ผลงานหมอดินอาสา และนำเสนอความสำเร็จการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีของเกษตรกรไทยมาเผยแพร่ต่อที่ประชุมสำนักงานใหญ่เอฟเอโอ กรุงโรม มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 500 คน

นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนถาวรไทยประจำ FAO เปิดเผยว่า กิจกรรมเฉลิมฉลอง “วันดินโลก (World Soil Day)” ในปี 2562 ถือเป็นปีที่ 6 นับจากที่องค์การสหประชาชาติมีมติรับรอง กำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันดินโลก (World Soil Day)” ตั้งแต่ปี 2556 โดยในปีนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมพัฒนาที่ดิน ได้ส่งตัวแทนหมอดินอาสา และเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาเข้าร่วมงานวันดินโลก ที่สำนักงานใหญ่เอฟเอโอกรุงโรม จำนวน 5 คน สำหรับพิธีการเปิดงานกิจกรรมวันดินโลก ในวันที่ 5 ธันวาคม 2562 นางมาเรีย เฮเลนา เซเมโด รองผู้อำนวยการใหญ่เอฟเอโอ นายเชิดชู รักตะบุตร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโรม นาย Victor Vasilliev ผู้แทนถาวรรัสเซียประจำเอฟเอโอ นายธนวรรษ เทียนสิน ผู้แทนถาวรไทยประจำเอฟเอโอ คณะผู้แทนจากประเทศต่างๆ และเจ้าหน้าที่เอฟเอโอเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากกว่า 500 คน

นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนถาวรไทยประจำ FAO และประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (CFS) ได้นำเสนอผลงานและบทบาทของหมอดินอาสาในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรด้านการจัดการดินอย่างถูกต้อง และช่วยถ่ายทอดความรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินไปยังเกษตรกรรายอื่นในหมู่บ้าน และรายงานปัญหาเกี่ยวกับการใช้ที่ดินจากเกษตรกรกลับมายังกรมพัฒนาที่ดินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ต่อไป ปัจจุบัน FAO ได้นำแนวคิดหมอดินอาสาในประเทศไทย ไปขยายผลงานจัดทำโครงการหมอดินอาสา (Soil Doctor Volunteer) ในหลายประเทศในทวีปแอฟริกา และอเมริกาใต้

ผู้แทนไทย ได้นำเสนอผลความสำเร็จการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีของตัวแทนเกษตรกรและหมอดินอาสา นายยวง เขียวนิล เกษตรกรจาก อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ต่อที่ประชุมงานวันดินโลก ณ สำนักงานใหญ่เอฟเอโอ ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุม และได้นำเสนอประเด็นบทบาทและความสำคัญของทรัพยากรดินที่มีต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก (Food Securiry)

ทั้งนี้ ยังได้เล่าให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ปรากฏผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและนานาชาติ

สำหรับธีมการจัดงานวันดินโลกในปีนี้ เน้นเรื่อง “หยุดยั้งป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน เพื่อรักษาอนาคตของเรา (Stop soil erosion, save our future) ซึ่ง FAO รายงานว่าการพังทะลายของดินเป็นปัญหาดินอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีหลายปัจจัย เช่น เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ และการบริหารจัดการดินที่ไม่เหมาะสม ทำให้ดินสูญเสียความอุดมสมบูรณ์และเกิดผลกระทบต่อเนื่องถึงการผลิตอาหารของโลกที่ลดลง จำเป็นต้องเร่งแก้ไข ต้องสร้างการรับรู้การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ป้องกันการกร่อนพังทลายของดิน

สำหรับประเทศไทยได้มีการดำเนินงานด้านนี้มานาน โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเล็งเห็นความสำคัญและบุกเบิกงานด้านอนุรักษ์ดินและน้ำมาตั้งแต่ปี 2534 โดยทรงริเริ่มให้นำหญ้าแฝกมาปลูกในพื้นที่เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินและช่วยอนุรักษ์ความชุ่มชื้นใต้ดิน ซึ่งได้ผลสำเร็จดี อีกทั้งรากของหญ้าแฝกยังมีคุณสมบัติช่วยดูดซับสารพิษที่ปนเปื้อนมากับน้ำที่ไหลผ่านดิน ปัจจุบัน แนวทางดังกล่าวได้ถูกนำไปขยายผลในประเทศอื่นๆ โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของเครือข่ายหญ้าแฝกโลก (The Vetiver Network) ซึ่งที่ผ่านไทยจัดอบรมสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติ และจัดตั้งเครือข่ายหญ้าแฝกบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิค และในปี 2563 ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมหญ้าแฝกนานาชาติ ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 26-29 ตุลาคม 2563 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน